เศรษฐศาสตร์กับการคมนาคม คลองกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของชาวสวน ในสมัยรัชกาลที่ 5

05 มี.ค. 2563 | 00:30 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563

 

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำเปรียบที่เรียกกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนว่าเวนิซตะวันออก เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเครือข่ายคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งธนบุรีที่เคยอุดมไปด้วยสวนผลไม้ ถ้าพูดถึงความสำคัญของคลองต่อสวน สิ่งแรกที่เรานึกถึงอาจเป็นคลองในฐานะแหล่งนํ้า แต่คลองยังทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เป็นเส้นทางคมนาคม การเข้าถึงเครือข่ายคมนาคมนั้น

นักเศรษฐศาสตร์ถือว่ามีความ สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดต้นทุนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะขนส่งสินค้าก็สะดวก จะเข้าถึงตลาดก็สะดวกเช่นกัน ผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายคมนาคม ย่อมมีแรงจูงใจที่จะเพิ่มการลงทุนและผลิตภาพการผลิต ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรณยงค์รัตน์ และผู้เขียน ได้ทำการทดสอบสมมติฐานนี้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์โดยใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ค่ะ

ก่อนอื่น เพื่อให้เห็นภาพ เราประมาณค่าการลดต้นทุนโดยใช้ข้อมูลจากบันทึกชาวสวนทุเรียนบางขุนนนท์ในช่วงก่อนศักราช 2500 ของ พล...ทวี จุลละทรัพย์ ในวันหยุด ประมาณตีห้า ..ทวีจะช่วยแม่พายเรือนำทุเรียนจากสวน ผ่านคลองบางขุนนนท์ คลองบางกอกน้อย เพื่อไปขายที่ตลาดนํ้าปากคลองบางบำหรุ จากการคำนวณของเรา ถ้าไม่มีคลองบางขุนนนท์ซึ่งเป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้น พวกเขาจะต้องขนทุเรียนจำนวนเดียวกันจากบ้านด้วยเท้าถึง 27 รอบเพื่อไปขึ้นเรือที่คลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติ ทำให้ ..ทวีต้องออกจากบ้านตีสามห้าสิบนาทีแทนที่จะเป็นตีห้า

หรือถ้าพวกเขาจะจ้างแรงงานเพื่อช่วยขนทุเรียนก็ต้องใช้เงินทุกครั้งเป็นจำนวนเท่ากับค่าข้าว 17 วันในสมัยนั้นเลยทีเดียว เมื่อเห็นภาพคร่าวๆ ของการช่วยลดต้นทุนในการเดินทางขนส่งจากการมีคลองเข้าถึงที่ดินแล้ว เราลองมาดูกันนะคะ ว่าชาวสวนที่สวนอยู่ติดกับคลองนั้นจะมีแรงจูงใจในการผลิตมากกว่า จนสะท้อนออกมาในรูปผลิตภาพแรงงานที่สูงกว่าชาวสวนที่ที่ดินไม่มีคลองตัดผ่านหรือไม่ค่ะ

เพื่อตอบคำถามนี้ เราใช้ข้อมูลจากต้นครัวโฉนดสวนในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ครอบคลุมกว่า 8,000 ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ นับว่าเป็นข้อมูลระดับครัวเรือนที่เก่าแก่และขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่หาได้ในปัจจุบันค่ะ ทุกต้นรัชกาล จะมีการสำรวจสวน นับว่ามีต้นไม้อะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร เพื่อนำมาคำนวณภาษีสวน เช่น ถ้าปลูกทุเรียนจะเสียภาษีต้นละ 1 บาท แพงกว่าผลไม้ชนิดอื่นเพราะมูลค่าสูงกว่า อัตราภาษีที่ครัวเรือนเสียสามารถใช้เป็นค่าประมาณของผลผลิตในสวนนั้นๆ ได้ เมื่อประกอบกับการประมาณจำนวนแรงงาน ก็จะทราบผลิตภาพแรงงานในการผลิต ว่าหนึ่งคนในสวนนั้นๆ มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูกมากน้อยเพียงใดค่ะ

นอกจากนั้น ข้อมูลโฉนดสวนยังมีรายละเอียดอื่นของเจ้าของและสวน เช่น ขนาด และด้านต่างๆ ติดอะไรบ้าง เราจึงทราบว่าแต่ละสวนติดคลองหรือไม่ เพื่อแยกความสำคัญของคลองในแง่ของเส้น ทางคมนาคมขนส่งออกจากฐานะแหล่งนํ้า เราแยกสวนเป็นสวนติดคลองคมนาคมติดคลองลำกระโดง ติดคลองทั้ง 2 แบบ หรือไม่ติดคลองชนิดใดเลย เพราะคลองลำกระโดงเป็นคลองที่ใช้สำหรับส่งและ บริหารจัดการนํ้า เล็กเกินกว่าที่ใช้เป็นทางขนส่งหลัก

ส่วนคลองคมนาคมถึงจะส่งนํ้าได้ แต่ชาวสวนก็ไม่สามารถใช้บริหารจัดการนํ้าในสวนได้ค่ะ เราพบว่าเมื่อควบคุมปัจจัยตัวแปรต่างๆ แล้ว แรงงานในครัวเรือนที่ติดคลองคมนาคม โดยเฉลี่ยแล้ว ผลิตได้มาก กว่าแรงงานในครัวเรือนที่ไม่ติดคลองคมนาคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึง 10.7% เลย ทีเดียวค่ะ

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เราถามตัวเองต่อก็คือว่า ความสัมพันธ์ข้างต้นที่เราพบ เป็นความสัมพันธ์แบบจากเหตุ คือการมีคลอง ไปสู่ผล คือการเพิ่มของผลิตภาพแรงงาน หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจถึงกระบวนการในการพัฒนาเศรษฐกิจว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล และสามารถช่วยให้ข้อมูลในการวางนโยบายต่อไปด้วย

 

เศรษฐศาสตร์กับการคมนาคม  คลองกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของชาวสวน ในสมัยรัชกาลที่ 5

 

แต่ความกังวลข้อแรก คือ ความสัมพันธ์ที่พบเป็นเพราะชาวสวนที่ผลิตได้ดีกว่า สามารถต่อรองให้ทางการตัดคลองมายังพื้นที่ของตน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เหตุคือเพราะผลิตได้ดี จึงมีคลองมาผ่านที่ของตนหรือไม่ (reverse causality) เราสรุปว่าไม่ใช่ เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คลองทั้งหลายในกรุงเทพฯ นั้น ไม่ว่าจะสร้างโดยหลวงหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ก็ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสวนผลไม้เลยค่ะ เช่น การป้องกันข้าศึก การร่นระยะการเดินทาง การขนส่งสินค้าส่งออก เช่น นํ้าตาล และการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว

แต่ถึงกระนั้น จากข้อมูลช่วงเวลาเดียว เราไม่ทราบว่า เมื่อคลองถูกตัด ชาวสวนที่มีความสามารถในการผลิตแตกต่างกันเนื่องจากลักษณะเฉพาะส่วนตัว เลือกไปอยู่ในที่ติดคลองอย่างเป็นระบบหรือไม่ (unobservable selection) เช่น ชาวสวนที่ผลิตได้มากกว่าเพราะขยันกว่า อาจจะกระตือ รือร้นไปอยู่ติดคลอง (positive sorting) หรือเพราะที่ติดคลองบางพื้นที่เป็นที่เปิดใหม่ ชาวสวนใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ผลิตได้ไม่ดี อาจย้ายเข้าไปอยู่ (negative sorting) ทำให้ความสัมพันธ์ที่เราพบข้างต้น เป็นผลจากลักษณะเฉพาะบางอย่างของชาวสวนที่อยู่ติดคลองที่มีอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว

เราตอบปัญหานี้โดยการประมาณค่าและหาทิศทางของ unobservable selection จากวิธีของ Oster (2019) และพบว่า เพื่อที่จะทำให้การเข้าถึงคลองคมนาคมไม่สามารถอธิบายการเพิ่มผลิตภาพแรงงานข้างต้นได้ คำอธิบายผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นจะต้องมาจาก positive sorting เราจึงทำการทดสอบต่อว่า positive sort ing ในบริบทนี้เป็นไปได้ไหม

โดยมีสมมติฐานว่า ที่ที่ประชากรหนาแน่นน้อยกว่า การย้ายไปอยู่ติดคลองน่าจะทำได้ง่ายกว่า ถ้า positive sorting เกิดขึ้นจริง เราก็น่าจะพบว่าชาวสวนที่อยู่ติดคลองในที่ประชากรหนาแน่นน้อยกว่า มีผลิตภาพแรงงานมากกว่าชาวสวนที่อยู่ติดคลองในที่ที่ประชากรหนาแน่นมากกว่าค่ะ ซึ่งเราใช้ความหนาแน่นของวัดในแต่ละตำบลมาเป็นตัวแปรประมาณค่าความหนาแน่นประชากรที่ไม่มีข้อมูลในสมัยนั้น เพราะวัดถือว่าเป็นศูนย์กลางชุมชน

แต่เราพบว่าไม่มี sorting ชนิดใดอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้สามารถสรุปความเป็นเหตุผลได้ว่า การมีคลองคมนาคมตัดผ่านเป็นเหตุทำให้แรงงานในครัวเรือนที่อยู่ติดคลองมีแรงจูงใจ ปลูกผลไม้ได้มูลค่ามากกว่าถ้าอยู่ในครัวเรือนที่ไม่ติดคลองค่ะ นอกจากนี้ จากข้อมูลราคาและค่าใช้จ่ายในสมัยนั้น เราพบว่า การที่มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นจากการมีคลอง ทำให้โดยเฉลี่ย ครัวเรือนสามารถเลี้ยงดูผู้คนได้เพิ่มขึ้นถึง 4 คนในแต่ละปีทีเดียว สะท้อนถึงการเข้าถึงการคมนาคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ถึงแม้ว่างานวิจัยของเราจะเป็นเรื่องราวจากอดีต อาจดูโบราณ ไม่ทันสมัย แต่หลายครั้ง การเข้าใจประวัติศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผลได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ก็อาจช่วยให้เราเห็นภาพในปัจจุบันชัดเจนขึ้น เช่น ในที่นี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ มีความสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีต่อผู้คนธรรมดามากเพียงใด

 

อ้างอิง: Chankrajang, T. and J. Vechbanyongratana. 2020. Canals and Orchards: The Impact of Transport Network Access on Agricultural Productivity in
Nineteenth-century Bangkok. Forthcoming, Journal of Economic History.

Oster, E., 2019. Unobservable selection and coefficient stability: Theory and evidence. Journal of Business & Economic Statistics, 37(2), pp. 187-204.

ที่มา: National Archives of Thailand. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตไทย [History in Pictures: Bygone Way of Life]. Bangkok: National Archives of Thailand, 2017