เศรษฐกิจไทยปีนี้ … ไม่หน้ามืด ก็สลบ!

03 มี.ค. 2563 | 05:09 น.

 

ผมว่าไม่บอกก็รู้ ปีนี้เศรษฐกิจไทย ไม่สลบก็หน้ามืด จริง ๆ แล้ว ลางของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีให้เห็นตั้งแต่ต้น ๆ ปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐอเมริกาเปิดศึกทางการค้ากับจีน นึกภาพดูก็แล้วกัน ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก ที่ GDP รวมกันก็เกือบร้อยละ 40 ของโลกออกมาห่ำหั่นกัน ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ บาดเจ็บกันทั่วโลกผ่านระบบห่วงโซ่ธุรกิจและการค้าทั่วโลก จนสถาบันการเงินระหว่างประเทศลดตัวเลขประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2563 ลงอย่างทั่วหน้า จากร้อยละ 6.3 – 6.5 เหลือ 6.0 และสำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่ไทยต้องเผชิญในปี 2563 นี้ คือ

1. สงครามการค้าที่ยังไม่สิ้นสุด ประเทศไทยรับรู้ผลกระทบนั้นผ่านการส่งออกที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนเป็นคู่ค่าที่สำคัญที่สุดของไทย คือ ร้อยละ 10 -11 การส่งออกของเราไปจีน และสินค้าที่จีนโดนสหรัฐฯ เล่นงานนั้นจะกระทบรายการสินค้าของไทยที่จีนนำเข้าไปเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนนั้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 24,400 ล้านเหรียญต่อปี จากมูลค่านำเข้าทั้งหมด 41,600 ล้านเหรียญที่จีนนำเข้าทั้งหมดจากไทย และแนวโน้มการต่อสู้สงครามการค้ายังคงไม่จบง่าย ๆ และยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสรัฐในปีนี้ที่ โดนัลล์ ทรัมป์ ยังยืนยันนโยบายเดิม ๆ ภายใต้สโลแกน “Keep American Great” ในการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยที่ผ่านมา เราก็พยายามพยุงกันสุดชีวิต โดยหันไปส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเราในปีที่แล้วกว่า 40 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศรวม 2 ล้านล้านบาทและในประเทศอีก 1 ล้านล้านบาท และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านสารพัดโครงการ รวมทั้ง “ชิม ช้อป ใช้” ทำให้เราผ่านปี 2562 มาพอเอาตัวรอด แม้จะถลอกปอกเปิกมาบ้างก็ตาม

2. COVID-19 ในขณะที่เราเดินข้ามปีใหม่มานั้น เราก็พอหวังการท่องเที่ยวเป็นเทียนส่องทางสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ COVID-19 ทำให้เทียนเล่มนี้ดับวูบลง พร้อมกับการลดลงของนักท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น แต่ทุกประเทศลดจำนวนลงอย่างหนัก นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสที่รุนแรงทำให้แทบจีนปิดประเทศและห้ามคนจีนออกนอกประเทศ ส่งผลต่อรายได้ของประเทศต่าง ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ยังไม่พอการแพร่กระจายของ COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกลดการเดินทางลง ส่งผลยอดเข้าพักในโรงแรมต่าง ๆ ในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทยลดลงกว่าร้อยละ 90 ยังไม่พอธุรกิจต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ไม่ว่าร้านอาหาร ร้านของฝากของที่ระลึก รวมทั้งไกด์ รถเช่า เรือเช่า คนงาน ฯลฯ แทบสลบ ประมาณความเสียหายกว่า 70,000 ราย

นอกจากนั้นยังไม่พอ จีนในฐานะผู้ส่งออกและนำเข้าทั่วโลกอย่างละร้อยละ 10 ของการค้าโลก พอจีนปิดประเทศ การค้าขายระหว่างประเทศชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองเดือนแรกของปี 2563 ประเทศหนึ่งลดการส่งออก การผลิตก็ลดลง ทำให้การส่งออกอีกประเทศชะลอตัวลงด้วยผ่านการเชื่องโยงของ supply chain ทางด้านการผลิต เพราะปัจจุบันนี้ ไม่มีประเทศไหนผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้นในประเทศเดียว ลองเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าดูก็ได้ครับ จะพบว่าชิ้นส่วนหลายร้อยหลายพันชิ้นเล็ก ๆ เหล่านั้นมาจากหลายประเทศ และประเทศจีนเป็นฐานการผลิตของชิ้นส่วนหลายพันหลายหมื่นสินค้า พอหยุดหรือชะลอการผลิตลง ทำให้ส่งผลต่อความชะงักงันในการผลิตทั้งโลก

หลายสำนักได้ประมาณว่าปัจจัย “COVID-19” จะถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและค่อย ๆ ลดความรุนแรงลงในช่วงฤดูร้อน และน่าจะสิ้นสุดในกลางปี แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักสองสามเดือนหรือจนถึงสิ้นปี เพื่อเรียกความมั่นใจของคนทั่วโลกให้หายประหวั่นพรั่นพรึ่งของไวรัสร้ายนี้และกลับมาปกติอีกครั้ง

3. ภัยแล้ง อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ และกรมอุทกศาสตร์ก็บอกว่าเป็นการแล้งที่รุนแรงในรอบหลายสิบปี ปริมาณน้ำลดลงเหลือร้อยละ 30 ของปริมาณกักเก็บ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรมตั้งแต่ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ที่เป็นพืชที่ต้องพึ่งน้ำมากที่สุด ประมาณการณ์ว่าหากภัยแล้งยาวถึงเดือนพฤษภาคม หรือบางรายงานก็บอกถึงเดือนมิถุนายน ข้าวและมันสำปะหลังจะเสียหายกว่า 24,000 ล้านบาท สำหรับอ้อยนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะใกล้ปิดฤดูหีบอ้อยแล้วนั้น ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าผลผลิตปีนี้น่าจะต่ำกว่า 80 ล้านตัน จากการคาดการณ์ตอนแรก 110 ล้านตัน และลดลงจาก 130 ล้านตันในปีที่แล้ว

ผลกระทบภัยแล้งมีต่อรายได้ของเกษตรกรในฐานรากลดลงกว่าที่ควรจะได้กว่าร้อยละ 10 ส่งผลต่อการใช้จ่ายลดลง แม้รัฐจะมีการสนับสนุนบางส่วนไม่ว่าประกันรายได้ หรือช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต รวมทั้งการชะลอการชำระหนี้หรือพักหนี้ แต่ก็ไม่เท่ากับการสูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะได้ไปจากภัยแล้ง รวมทั้งคาดว่ารายได้เกษตรกรชาวสวนอาจต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกไปตลาดจีนในช่วงสามไตรมาสที่เหลือ

4. ความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กว่า 5 เดือน ทำให้ความมั่นใจการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยลัยหอการค้าไทยในต้นปีนี้อยู่ที่ 54.9 ลดจาก 67.7 ในเดือนเดียวกันของปี 2562 ถึงแม้ว่าจะมีการใช้งบประมาณบางส่วนไปพลางก็ตาม แต่งบประมาณด้านการลงทุนของรัฐกว่า ร้อยละ 20 โดยเฉพาะส่วนการลงทุนในโครงการใหญ่กว่า 200,000 ล้านบาทที่ล่าช้า ส่งผลต่อการลงทุนจากภาคเอกชน (Crowding-in) ได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายอื่น ๆ ของภาครัฐ เช่น การสัมมนาต่าง ๆ ในต่างจังหวัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากไวรัส หลายหน่วยงานกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะจัดงานเพราะกลัวว่าจะไม่คนเข้าร่วมไม่มาก

จากปัจจัยหลายปัจจัยข้างต้น หลายหน่วยงานได้หั่นการประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงจาก 2 – 3% เหลือ 1.5 – 2% การลงทุนของภาคเอกชนลดลง การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และลดลงของนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 4-5 ล้านคน แต่ดู ๆ แล้ว ตอนนี้พูดยากเพราะสถานการณ์ด้านไวรัสยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น ดูไง ๆ ทั้งระยะเวลาที่จะผ่านแต่ละเรื่องก็ยากจะคาดเดา แต่ดู ๆ ในภาพรวมแล้วไม่น่าสดใสมากนัก ซึ่งหากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็น “คน” ตอนนี้คงมึน ๆ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ต้องอดใจรอดูยาที่รัฐจะออกมาล็อตต่อไปเร็ว ๆ นี้ หากไม่แรงกว่าเดิมและยาตรงกับโรค และหากมีแถมโรคการเมืองที่กำลังฮึ่ม ๆ กันอยู่ออกมาอีก ก็รับรองได้ว่า …. สลบยาวแน่ ๆ