‘สื่อมวลชน’ ที่สังคมคาดหวัง

05 มี.ค. 2563 | 00:30 น.

ในโอกาสที่ “ฐานเศรษฐกิจ” มีอายุครบ 40 ปี ผนวกกับ5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันนักข่าว เมื่อก่อนเป็นวันหยุดงานของนักข่าว แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาคือวันทำงานปกติ ลองออฟฟิศไหนหยุดงานในยุคนี้สิ ตกข่าวแย่ (ฮ่า)

แม้วันนักข่าวยุคนี้จะไม่ใช่วันหยุด แต่แวดวงสื่อก็จะมีกิมมิกและกิจกรรมแต่ละปีไม่ซํ้ากัน ในการรณรงค์ให้สังคมได้ทราบถึงความสำคัญในการมีนักข่าวที่เป็นมืออาชีพในสังคม ยิ่งในยุคนี้แล้วที่ใครก็สามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูป คลิป แล้วโพสต์ข้อความอะไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้นักข่าวต้องยึดมั่นในหลักวิชาชีพ จริยธรรม จรรยาบรรณให้หนักแน่น

ปีนี้ทราบว่าหลายองค์กรวิชาชีพสื่อ อย่างน้อย 5 องค์กร ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับ กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานด้านสาธารณภัยทั้งรัฐ เอกชนและภาคประชาชน จะทำการเปิดตัวแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติซึ่งเป็นโครงการถอดบทเรียนกรณีถํ้าหลวง-ขุนนํ้านางนอน :จริยธรรมของสื่อ

 

‘สื่อมวลชน’  ที่สังคมคาดหวัง

 

ที่หยิบยกเอาสถานการณ์ที่ถํ้าหลวง พร้อมกับเหตุภัยพิบัติ ภาวะวิกฤติ ในอดีตหลายๆ สถานการณ์ ที่หน่วยงานรัฐ มีวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่ง สื่อมวลชนก็เคยชินกับการทำข่าวอีกอย่างหนึ่ง นำมาจูนให้ตรงกันใน สถานการณ์วิกฤติฉุกเฉิน

เพื่อว่าในภาวะฉุกเฉินต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เขาคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างลุล่วง โดยที่สื่อมวลชนไม่กีดขวาง ขัดขวาง เป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่สื่อก็ยังสามารถรายงานข่าวได้ด้วย แต่จะรายงานอย่างไรเท่านั้นเอง

อ่านอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าแนวทางเล่มนี้ จะอิงแต่ข่าวถํ้าหลวงเท่านั้น ผมขอยกตัวอย่างให้เหมาะกับยุคสมัย

อย่างเช่น สถานการณ์ไวรัสโคโรนา ในแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติฯ เล่มนี้ ก็มีหมวดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่าผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการสร้างความตื่นตระหนก จากการนำเสนอโดยการคาดเดา หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหรือสถานการณ์ภัยสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และรักษา

หรือถ้าเหตุการณ์คล้ายกับสถานการณ์สะเทือนขวัญที่โคราช ที่สังคมคาดหวังว่าจะเห็นมาตรฐานของสื่อ ก็จะอยู่ในหมวด 7 “การปฏิบัติงานในสถานการณ์ก่อวินาศกรรมฯที่ระบุว่าผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการเปิดเผย ข้อมูลรายละเอียดทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง” “ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการนำเสนอประเด็นข้อเท็จจริง หรือภาษาที่กระตุ้นให้สถานการณ์ขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ต้องบอกว่าแนวทางฉบับนี้ ใช้เวลาร่าง ถกเถียง รับความคิดเห็น ปรับแก้ ตีพิมพ์ รวมเวลา 2 ปี เพื่อให้สังคมได้คู่มือตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน และคนที่แอบอิงเข้ามาอาศัยวิชาชีพสื่อทำมาหากินแบบไร้มาตรฐาน

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563