SPRC ขาดทุน-เงินหาย ไร้คนผิด-ปันผลปิดปาก

01 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3553 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 1-4 มี.ค.63 โดย...พรานบุญ

 

 

 หนังกลางแปลงเรื่องใหญ่ในตลาดหุ้นไทยยังคึกคัก ไม่แพ้หนังดัง Netflix แม้ว่าดัชนีราคาจะร่วงแล้วร่วงอีกจนหลายคนระย่นระย่อ

 ภาพยนตร์เรื่องใหญ่ “พญาอินทรี SPRC ตีปีก:ทำเงินหาย-จ่ายปันผล” ยังสามารถเรียกชุมชนคนซื้อขายหุ้นรายย่อยมาดูจนล้นโรง

 ไม่เฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลงทุนใน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC จำนวน 22,200 คนเท่านั้น แต่นักลงทุนหลายแสนคนต่างอ้าปากค้างร้องถามพรานไพรเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า ทำไม ก.ล.ต.พ่อทุกสถาบันจึงปล่อยปละละเลยให้เกิดคนได้คนเสีย

 นังบ่างบอกว่า นานๆ สักทีที่นักลงทุนในตลาดหุ้นจะเห็นเรื่องราวของการทำผิด แต่ได้ดิบได้ดี

 กรณี บริษัท SPRC ขาดทุนครั้งแรก นับแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นปี 2558 กลายเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ในตลาดหุ้น ตลาดทุน

 ปี 2558 บริษัท SPRC กําไรสุทธิ 8,227 ล้านบาท ปี 2559 กำไรสุทธิ 8,688 ล้านบาท ปี 2560 กำไรสุทธิ 8,895 ล้านบาท ปี 2561 กำไรสุทธิ 2,263 ล้านบาท

 พอถึงปี 2562 ผลประกอบการยักษ์ใหญ่โรงกลั่น ต้นทุนหายกำไรหดขาดทุนสุทธิปาไป 2,808 ล้านบาท แต่ยังประกาศปันผลอัตรา 0.0625 บาท/หุ้น XD ในวันที่ 5 มีนาคม 2563

 ทิโมธี อลัน พอตเตอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอ่นอกบอกว่า ที่ขาดทุนเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการบริหารจากปกติ 8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 31 ล้านดอลลาร์ หรือ 700 ล้านบาท

 ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากการถูกโจมตีทางธุรกรรมทางอี-เมล์ในช่วงปลายปี ทำให้บริษัทต้องชำระเงินไปยังบัญชีที่ไม่ถูกต้อง....ในปลายปีก่อนหน้า เรียกว่ามีการโอนเงินไปจ่ายผิดคนผิดบัญชีที่ต้องจ่ายร่วม 22-23 ล้านดอลลาร์ หรือ 700 ล้านบาท

 นี่เป็นเรื่องใหญ่ในตลาดหุ้น ที่พยายามสร้างระบบธรรมาภิบาล รับผิดรับชอบของฝ่ายบริหารที่มีกับผู้ถือหุ้น คู่ค้า...ขาดทุนท่วมหัวจากปีที่แล้ว ประกาศจ่ายปันผล คนทำเงินหายไร้ร่องรอย

 

 คณะกรรมการบริษัท ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ให้ดี มิใช่ทำให้กลไกการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารพิกลพิการ

 กรรมการทั้งหมดมิใช่ตัวแทนของพญาอินทรี แต่ส่วนหนึ่งคือตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย 22,000 คน ที่ลงทุนในหุ้นด้วยนะเจ้าคะ

 ลำพังปล่อยให้เรื่องความเสียหาย 700 ล้านบาท เดินหน้ามา 3-4 เดือน จึงแจ้งให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยทราบนี่ก็พิกลพิการแล้วนะคุณพี่กรรมการที่รัก...

 ยังไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จะมีใครยอมบ้าง!

 พรานฯพามาดูนี่ คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการที่มีเงินลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 ล้านบาท เกินกว่า 1,500 ล้านบาท ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจในการดำเนินการทำธุรกรรม ในนามของบริษัทได้ในวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท เกินกว่า 200 ล้านบาท ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

 แต่เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจของ SPRC ต้องทำสัญญาหรือภาระผูกพัน ต้องมีข้อตกลงซื้อขาย และแลกเปลี่ยนนํ้ามันดิบ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจทำธุรกรรมได้ แม้มีมูลค่าเกินกว่า 200 ล้านบาท แต่ข้อผูกพันของสัญญาต้องไม่เกิน 12 เดือน

 ธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจในการเข้าทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

 คำถามดังๆ ที่สนั่นห้องค้าคือ ความผิดพลาดในการถูกแฮกเกอร์เหล่านั้นมาจากใคร ผู้บริหาร ฝ่ายจัดการ หรือพนักงาน หรือไม่มีใครผิด ที่ปล่อยให้มือดีแฮกจนเงินหายไป 700 ล้านบาท

 ใครเป็นคนอนุมัติในการสั่งจ่ายให้คู่ค้าตามสัญญาในแต่ละบัญชีที่ถูกแฮกเงินไป!..I Don’t Known

 อีเห็นแอบไปดูผลตอบแทนผู้บริหารมา บริษัทนี้มีพนักงาน 500 คน จ้างกลุ่มเชฟรอนเป็นเอาต์ซอร์ซอยู่ร่วม 100 คน มีค่าใช้จ่ายผู้บริหารและกรรมการในปี 2561 ราว 185 ล้านบาท พอปี 2562 เพิ่มเป็น 237 ล้านบาท ถ้าทำเงินหาย จ่ายเงินเพิ่มผู้บริหาร และกรรมการต้องบอกว่าพิกลพิการอีกเรื่อง

 พิการเรื่องที่ 3 นังบ่างช่างยุไปตรวจสอบมาพบว่าเงินปันผลทั้งๆ ที่บริษัทขาดทุนนั้น เงินปันผลมาจากไหน นังบ่างช่างยุบอกว่า มาจากมติคณะกรรมการครั้งที่ 1/2563 ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมเป็นเงิน 25.31 ล้านดอลลาร์ หรือ 792 ล้านบาท ตกหุ้นละ 0.1827 บาท ...555 นำเงินปันผลมาปิดปาก...ชิมิ

 หักเงินปันผลจ่ายระหว่างกาล ที่จ่ายไปหุ้นละ 0.1202 บาท ในวันที่ 6 กันยายน 2562 แล้วเงินปันผลคงเหลือ 0.0625 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 271 ล้านบาท

 แต่ผู้ถือหุ้นต้องอนุมัติในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 9 เมษายน 2563

 ผู้ถือหุ้น 22,000 รายว่าไง!เอามั้ย เอามั้ย เอา!