ไวรัสโคโรนา เขย่าขวัญ4กลุ่มเสี่ยงแรงงานไทย

28 ก.พ. 2563 | 00:00 น.

 

 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติที่ทำให้โลกปั่นป่วนหนักโดยเฉพาะจีน ที่ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนถึงกับออกมากล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนในประเทศไปแล้วกว่า 2,400 คน ถือเป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุด” ของจีนนับแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 1949 หรือในรอบ 70 ปี

ถ้าโฟกัสให้แคบลงสำหรับประเทศไทย นอกจากปัญหาทางสาธารณสุขแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อไปหากไวรัสโคโรนายังคงแพร่ระบาดอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะควบคุมได้เมื่อไหร่นั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำจะเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและมีการตั้งคำถามว่าแรงงานกลุ่มไหนบ้างที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด!

ปัจจุบันแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมและแรงงานนอกระบบประกันสังคมมีจำนวน 21.8 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมจำนวน 11.4 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 10.4 ล้านคน ในที่นี้ยังไม่รวมแรงงานต่างด้าวและแรงงานในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเกษตรและภาคการศึกษา

ไวรัสโคโรนา  เขย่าขวัญ4กลุ่มเสี่ยงแรงงานไทย

เมื่อสำรวจเสียงสะท้อนจากภาคแรงงานพบว่า แรงงาน 21.8 ล้านคน จะแบ่งเป็นแรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม เรียงตามลำดับเสี่ยงมากไปหาเสี่ยงน้อยคือ 1. แรงงานจากภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวน 3.2 ล้านคน (ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบจากภาคท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก) ที่ได้รับผลกระทบจากพิษไวรัสโคโรนาโดยตรง

2.แรงงานจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีจำนวน 6.1 ล้านคน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงรุมเร้ารอบด้าน ทั้งปัญหาภัยแล้ง วิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาเทรดวอร์จีน-อเมริกาลากมาถึงไวรัสโคโรนา

3. ภาคบริการโลจิสติกส์ ซึ่งมีแรงงาน 1.2 ล้านคน ที่ขณะนี้ภาคขนส่งทางเรือระหว่างไทย-จีนมีเที่ยวเรือลดลงไปแล้ว 20-30% 

และ 4. แรงงานจากภาคค้าปลีกและค้าส่งที่มีแรงงานจำนวน 6.2 ล้านคน ที่ขณะนี้สมาคมค้าปลีกต้องออกมาปรับเป้าตัวเลขการขยายตัวจาก 5% เหลือ 2-3%

แรงงานทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่ระยะเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาว่าจะควบคุมได้เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ เป็นวิกฤติที่เขย่าขวัญแรงงานไทย เพราะเวลานี้เริ่มส่งสัญญาณว่าบางบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านโดยบริษัทพร้อมจ่ายเงินเดือน 75% ตามกฎหมายแรงงาน ในขณะที่บางบริษัทมีการชะลอการผลิต บางบริษัทหยุดการผลิตบางไลน์ผลิตลง และลดชั่วโมงการทำงานลง หลังจากเครื่องจักรเดินเครื่องได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดวัตถุดิบที่จะต้องนำเข้ามาจากจีน แต่วงจรโลจิสติกส์ถูกเบรกจนทำให้วัตถุดิบหลายรายการไม่สามารถป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตได้ตามเวลาที่กำหนด ขณะที่การส่งมอบสินค้าสำเร็จรูปไปยังปลายทางก็ต้องชะลอลงและต้องขยับเวลาการส่งมอบออกไปก่อน 

วิกฤติซ้ำวิกฤติซ้อนแบบนี้น่าห่วงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563! 

หวั่นยกระดับการแพร่ระบาดทำศก.โลกครึ่งปีแรกถดถอย