เศรษฐกิจไทย ไร้ปาฏิหาริย์ สลบยาว (จบ)

28 ก.พ. 2563 | 04:10 น.

ตอนที่แล้วผมได้เล่า ให้ฟังถึงมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่ฟันธงตรงกันว่าเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้ามีอาการน่าเป็นห่วงอย่างมาก และกว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวคงต้องรอยาวไปถึงกลางปี 2564

แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้เราอย่าหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ หรือสิ่งอัศจรรย์มาดลบันดาลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรุนแรง หรือในภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า โตแบบ V-Shape นั้นคงเป็นไปได้ยาก

หากมองในแง่ดีเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ U-Shape โดยที่ฐานของตัว U จะยาวกว่าตัวยูปกติ แต่จะยาวไปจนเป็นตัว L หรือไม่ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

ที่ผมต้องใช้คำว่าคนไทยทุกคนนั้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเราในตอนนี้ เหมือนคนป่วย การส่งออกที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับประเทศพึ่งพาไม่ได้ ขณะที่การท่องเที่ยวที่ก็ถูกรุมกระหนํ่าด้วยไวรัสโคโรนา

ส่วนภาคเกษตร ภาคครัวเรือนนั้นคงไม่ต้องพูดถึง การที่จะหวังพึ่งมาตรการอัดฉีดจากรัฐบาลก็คงทำได้ในข้อจำกัด

ปัญหาที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยในวันนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาไวรัสโคโรนา สงครามการค้า หรือค่าเงินบาทแข็ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ของที่เราผลิตออกมาขายนอกจากจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้แล้ว สินค้าหลายชนิดก็กำลังตกยุค

ในประเด็นนี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้ให้เห็นถึงผลิตภาพหรือ Productivity ที่เป็นตัวกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลิตภาพโดยรวมของไทยยังค่อนข้างตํ่าและไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เห็นได้จากปัจจุบันผลิตภัณฑ์โดยรวมของมาเลเซียเพิ่มสูงกว่าไทยถึง 30% เมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อนที่มีผลิตภาพใกล้เคียงกัน หรืออินเดียที่ผลิตภาพปรับมาเทียบเท่ากับไทย

ขณะที่ผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตช้ากว่าจีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ปัญหาผลิตภาพตํ่าของภาคเกษตรจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าระหว่างคนรวยและคนจน รุนแรงขึ้นและสร้างจุดเปราะบาง เป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางสังคม

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาช่องว่างของผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีกว้างขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ความแตกต่างดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น เป็นอีกสาเหตุที่ซํ้าเติมปัญหาความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทย

ขณะที่กฎเกณฑ์ข้อบังคับทางการที่ซับซ้อนหรือล้าสมัย ซึ่งผู้ประกอบการต้องเผชิญนั้น โดยงานวิจัยของ TDRI พบว่ามีกฎระเบียบข้อบังคับกว่า 100,000 ฉบับ และกฎระเบียบจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงนโยบายภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการ ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายมีอำนาจเหนือตลาด

 

เศรษฐกิจไทย ไร้ปาฏิหาริย์  สลบยาว (จบ)

 

ที่สำคัญนโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ ที่ไม่จูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพขั้นสูงหรือเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง

ปัญหาผลิตภัณฑ์ตํ่าและเพิ่มขึ้นช้าของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งส่งผลรุนแรงและเป็นความท้าทายในอนาคตด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

1. การแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงขึ้นมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด เช่น สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม มีพัฒนาการด้านผลิตภัณฑ์ภาพหลายเรื่องที่เร็วกว่าไทย ยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

2. การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยได้ทำให้จำนวนคนไทยในวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว และจะลดลงเร็วขึ้นอีกในอนาคต หากเราไม่พัฒนาผลิตภาพเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมย่อมลดลงตามไปด้วย เช่น ปัญหาสังคมสูงวัยในภาคเกษตรกรรมเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ

3. สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะทำให้ความเสี่ยงในการผลิตและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

การที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากปัญหานี้นายวิรไทแนะทางออกไว้ 5 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบ การรายย่อยและแรงงานทักษะตํ่าที่ขาดโอกาสและเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรและ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานของคนส่วนใหญ่ของประเทศรวมทั้งพยายามกระจายประโยชน์ให้ถึงแรงงาน ไม่ใช่กระจุกอยู่กับเจ้าของกิจการหรือนายทุน

2. ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นหัวใจของการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคเกษตรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การพัฒนา digital platform และการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน โดยเฉพาะ smart phone สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้

3.ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐ และส่งเสริมการทำงานของระบบตลาด

4.ภาครัฐจะต้องสร้างระบบแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะการเร่งเพิ่มผลิตภาพ และ 5.การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ในทุกระดับโดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ลงทุนสูง

ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องเร่งช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างจริงจังแล้วครับ

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563