กล้าหรือกลัว: กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลด VAT

28 ก.พ. 2563 | 01:00 น.

คงมีวิธีที่ไม่สลับซับซ้อน หากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งไวรัส Covid-19 จากงบประมาณล่าช้า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

การท่องเที่ยวที่เคยเป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยมาหลายปี ต้องถือว่า ในยามที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมพึ่งพาไม่ได้ ก็ได้ภาคบริการ (ท่องเที่ยว) ที่ช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยโตได้ในระดับ 2-3% ต่อปี โดยกลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ทะลุ 10 ล้านคนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กระจายไปเกือบทุกแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย และการเพิ่มขึ้นของกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียก็ช่วยเติมช่องว่างการท่องเที่ยวไม่ให้เกิดการเว้นวรรคตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่นักท่องเที่ยวหาย

ในไตรมาสแรกของปีมรสุมทุกด้านบ่งชี้เศรษฐกิจจะติดลบ นั่นหมายถึง รายได้รัฐ รายได้เอกชน รายได้ประชาชน รายได้ต่างประเทศจะลดลง พร้อมกันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถึงวันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

เศรษฐกิจประเทศไทยไม่ต่างอะไรกับคนแก่ที่มีเงิน ที่กำลังหกล้ม ทุกอย่างไม่เอื้อ ดีหน่อยที่กระเป๋าตังค์ยังมีเงิน แต่เงินก็จะไม่ใช่ยาจะรักษาคนแก่ล้มได้ง่ายนัก คนแก่ล้มจะลุกยาก บางทีอาจจะไม่ลุกอีกเลย บางทีก็ป่วยติดเตียง ต่างกับเด็กซึ่งหากล้มก็สามารถลุกขึ้นวิ่งหรือเดินต่อได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเรียกว่าการฟื้นตัวแบบ U-shape หรือ V-shape ก็ได้

คำถามคือ หากเรารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยจะเป็นแบบไหน ผมสมมติให้เป็น 2 สถานการณ์ดังนี้

1.ถ้าโลกเกิดฟื้นขึ้นมาด้วยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอย่างรวดเร็ว เช่น การค้นพบเทคโนโลยีใหม่ การเติบโตของบางอุตสาหกรรม เหมือนอย่างที่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สร้างเชื้อเพลิงการเติบโตมาแล้วในอดีต ประเทศไทยจะอยู่ในหัวแถวของการฟื้นตัวหรือไม่ คำตอบคือ ไม่เพราะความสามารถของเราไม่ถึง ความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับ ทั้งคุณภาพของคนและคุณภาพเทคโนโลยีของตัวเอง เราไม่มีแบรนด์ เราคือผู้รับจ้าง (ผลิต) กับผู้บริการ (ท่องเที่ยว) ซึ่งเป็นปลายของห่วงโซ่มูลค่าจะได้ประโยชน์ (ทีหลัง) หมายความว่า คนอื่นต้องฟื้นก่อนเราอยู่ตู้ท้ายๆ ของหัวรถจักรรถไฟเศรษฐกิจโลก

2.ถ้ารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการแจกเงิน จะไม่ต่างจากการโยนหินลงไปในน้ำแล้วหวังว่า จะเกิดเป็นคลื่น แล้วจะมีคนอื่นๆช่วยกันโยนหินลงไปน้ำแล้วน้ำ (เม็ดเงิน) ในระบบเศรษฐกิจจะหมุน แต่ตอนนี้ถังน้ำรั่ว เติมลงไปเท่าไรก็ไม่พอ รั่วไปไหน ไปกับการไม่จ่าย ไปกับการชำระหนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจุดประกายให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน ตัวทวีคุณอยู่ในระดับต่ำ จะเป็นนโยบายที่สูญเปล่า

แล้วหนทางแก้ยังพอมีอยู่ไหม?

 

ประเทศไทยปัญหาเศรษฐกิจเรื่องโครงสร้างที่ผลิตภาพการผลิต (productivity) ต่ำ เศรษฐกิจเรา 15 ปีหลังไม่เคยโตด้วยคุณภาพ เราโตด้วยการพยายามยัดปริมาณเข้าไป เราเลยเห็นภาพของการเติบโตที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ (จะเรียกปลายของตัว S หรือ New normal) ก็ได้

แต่การแก้เรื่องใหญ่แบบนี้ต้องใช้เวลาเป็นเรื่องระยะยาว แก้โดยการประชุมไม่ได้ ต้องแก้ด้วยนักลงมือทำ เราวางโครงสร้างพื้นฐาน เราวางผังเมืองใหม่ เราพัฒนาเชิงพื้นที่ เราลดอำนาจราชการส่วนภูมิภาค การศึกษาแบบใหม่ เป็นทางเดินที่จะช่วยได้ แต่ใช้เวลา ในระยะสั้นต้องใช้ยาแรงและหาตัวช่วย

ข้อเสนอของผมในระยะสั้นรัฐควรจะปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ให้เหลือ 5% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันที และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยมีเงื่อนไขจะลดให้เฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนการใช้จ่ายด้วยดิจิตอลเท่านั้น คือ QR payment e-wallet เพื่อกระตุ้นเกิดการใช้ platform ทางการเงินในการ transform ไปสู่ cashless ให้เร็วที่สุด

เนื่องจาก financial skill จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่นวัตกรรม (innovation) ด้านอื่นๆต่อไปในอนาคต ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว สร้าง ecosystem สำหรับ co-learning space ให้เกิดขึ้นในสังคม

ผมประมาณการว่าหากลด VAT ลงจริงในระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้ผลลัพธ์สุทธิ (net effect) ต่อรายได้รัฐบาลจะหายไปเพียง 35,000 – 40,000 ล้านบาท เท่านั้น ไม่กระทบต่อฐานะการคลังรัฐบาล หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ กระตุ้นในผู้มีเงินออมเหลือเอาเงินออกมาใช้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เงินบาทจะอ่อนค่าลง รัฐบาลได้ข้อมูลที่ติดตามได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และยังส่งผลต่อจิตสำนึกด้านเทคโนโลยีในระยะยาว ให้คนไทยใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กันมากขึ้น

ในมุมมองทั้งหมดที่เกิดขึ้นผมคิดว่าคุ้มค่ากับการตัดสินใจหากรัฐบาลลงมือทำ ประชาชนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ