ไวรัสยกระดับ การใช้ AI ในจีน

26 ก.พ. 2563 | 10:20 น.

 

การนำการวิเคราะห์ big data มาใช้เพื่อติดตาม ควบคุม และวินิจฉัยการระบาดของไวรัสอย่างกว้างขวางในจีน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มอย่างมีระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในระดับบุคคลอย่างแท้จริง ตลอดจนการทบทวนเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในเหตุการณ์วิกฤติ ที่แน่นอนที่สุดคือการลงทุนและพัฒนาด้าน health tech จะมีอัตราเร่งขึ้นมาก ท้ายที่สุดขอส่งใจให้เหตุการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็ว

การติดตามและควบคุมความเสี่ยง - การใช้ AI และ big data เพื่อติดตามและควบคุมความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสเป็นไปอย่างเข้มข้นในประเทศจีน บริษัท Ant Financial ภายใต้กลุ่ม Alibaba ได้พัฒนา “รหัสสุขภาพ” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะแสดงผลบนหน้ารหัส QR เป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว โดยในชั้นนี้เป็นการประเมินตามข้อมูลที่ผู้ใช้กรอก รวมถึงประวัติการเดินทาง การใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และอาการติดโรคถ้ามี ควบคู่กับฐานข้อมูล big data โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น มีประโยชน์เพื่อประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของผู้ใช้ เริ่มใช้ที่เมืองหังโจวเป็นแห่งแรก ประชาชนจะต้องแสดงรหัสสุขภาพนี้ในการเข้าถึงระบบสาธารณะ อาทิ รถใต้ดิน หรือสถานที่ต่างๆ ในขณะนี้มีอีกหลายเมืองกำลังเริ่มใช้ระบบนี้เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในระดับแต่ละบุคคลยังขาดความครบถ้วนและแม่นยำ ทำให้ผู้ใช้หลายรายบ่นว่าสีที่ได้รับการประเมินไม่ตรงกับความจริง

บริษัทโทรคมนาคมทั้ง 3 ได้แก่ China Mobile, China Telecom  และ China Unicom ได้ให้บริการยืนยันข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาเพื่อผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปยืนยันกับบุคคลที่ 3 ที่เห็นจะเป็นประโยชน์มากสุดคงเป็นการยืนยันกับตึกอาคารชุดที่ตนเองพำนักอยู่เพื่อให้กลับเข้าบ้านได้หลังจากกลับจากตรุษจีน

บริษัท Qihoo 360 ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำด้านโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ทำความร่วมมือกับบริษัทเทคจีนอีกแห่ง NoSugar Tech ออกแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบว่าผู้ใช้ได้เดินทางบนรถไฟเที่ยวเดียวกับผู้ติดเชื้อในระยะที่ผ่านมาหรือไม่ บริษัท XAG ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตโดรนสำหรับการเกษตร ได้พัฒนาโดรนที่สามารถพ่นยาฆ่าเชื้อแบบตรงจุดได้ และยังได้ยินถึงการใช้โดรนบินตรวจอุณหภูมิตามในตึกต่างๆ ในเมืองอู่ฮั่น บริษัท Meituan Dianping ได้พัฒนาระบบส่งอาหารแบบไม่ถูกตัว และเริ่มใช้รถไร้คนขับและหุ่นยนต์ในบางเขตของกรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ตัวอย่างยังมีอีกมากมาย

Work-from-home lifestyle - เหตุการณ์การติดเชื้อมีแนวโน้มกินเวลาอีกพักใหญ่กว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ธุรกิจต้องพยายามเดินหน้าต่อไป การทำงานจากบ้านกลายเป็นเรื่องปกติ โปรแกรม Zoom กำลังเป็นที่นิยมจากกลุ่มนักธุรกิจจีนสำหรับการประชุมทางไกล โปรแกรมนี้เป็นน้อยโปรแกรมที่ไม่ใช่ของจีน (ถึงแม้เจ้าของเป็นชาวจีนโพ้นทะเลใน Silicon Valley) แต่ได้รับความนิยมสูง เมื่อเทียบกับ Wechat VDO Call แล้วโปรแกรม Zoom สามารถใช้งานในเชิงธุรกิจได้ดีกว่า

ไวรัสยกระดับ การใช้ AI ในจีน

 

 

 

การเรียนการสอนก็ย้ายไปอยู่บนออนไลน์เช่นกัน ในวันแรกของการเปิดเรียนหลังจากตรุษจีน มีครู 600,000 คน ทำการสอนนักเรียน 50 ล้านคน โดยใช้ vdo streaming ในโปรแกรม DingTalk ของ Alibaba นอกจากนั้น โรงเรียนกวดวิชาออนไลน์ชั้นนำ อาทิ บริษัท TAL, New Oriental, Koolearn ต่างเร่งชั้นเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ และผู้ปกครองก็ยอมรับการกวดวิชาออนไลน์มากขึ้น เพราะเกรงว่าลูกหลานจะไม่ทันเพื่อนร่วมชั้นเมื่อโรงเรียนเปิดเรียนแบบเต็มรูปแบบ

ในด้านการตรวจวินิจฉัยโรค covid-19 ที่อู่ฮั่น ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์อย่างรุนแรง ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อาทิ บริษัท Yitu Tech ซึ่งเน้นการวิจัยเรื่อง AI สำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยฯ และ Alibaba ในการพัฒนาระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ภาพ CT Scan ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส และมีการนำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G มาใช้งานการแพทย์ทางไกลที่โรงพยาบาลในอู่ฮั่นและเมืองที่ไกลออกไปในมณฑลหูเป่ยด้วย

 

จับตาการพัฒนาด้านเทคหลังโรคระบาด - เป็นที่น่าจับตาว่าการพัฒนาด้าน big data ของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดหลังจากโรคระบาดครั้งนี้ โดยรวมประเทศจีนมีการจัดเก็บ big data ของผู้บริโภคที่ดีมากแล้ว แต่ระบบ big data ที่เป็นอยู่มีการแบ่งค่ายใหญ่ไม่กี่ค่ายรวมถึงภาครัฐด้วย ไม่ได้มีการแบ่งปันข้อมูลอย่างแท้จริง อีกทั้งการวิเคราะห์เชิง big data นำมาประเมินแนวโน้มมหภาคเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการนำมาวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในระดับผู้บริโภคเป็นรายบุคคลยังมีไม่มากนัก โรคระบาดครั้งนี้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มอย่างมีระบบ การวิเคราะห์เพื่อให้ประโยชน์ในระดับผู้บริโภครายบุคคลอย่างแท้จริง ตลอดจนการทบทวนเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในเหตุการณ์วิกฤติ ที่แน่นอนคือการลงทุนด้าน health tech จะมีอัตราเร่งขึ้นมาก

 

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย...  มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3552 วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน :  มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง  จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา