Street Foods: วิถีชีวิต หรือ ไร้ระเบียบ

23 ก.พ. 2563 | 07:59 น.

คอลัมน์  : เล่าตามที่เห็น พูดตามที่คิด

คนไทยดูจะคุ้นเคยกับสตรีทฟู๊ดเป็นอย่างดี พบเห็นได้ทุกที่ ตั้งแต่บนทางเท้า หน้าปากซอย ป้ายรถเมล์ หรือเดินผ่านหน้าบ้านเราเอง และหลายคนฝากท้องไว้กับร้านอาหารริมทางเหล่านี้ ไม่ว่าจะนั่งทานที่ร้านหรือซื้อหิ้วกลับบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรายได้ของผู้คนจำนวนมาก ประมาณการว่าจำนวนหาบเร่แผงลอยในประเทศไทยมี 560,000 ราย จากการสำรวจโดยธนาคารเพื่อการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปี 2561 สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ GDP กับประเทศกว่า 224,713 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร โดยประมาณการว่าพ่อค้าแม่ค้ามีรายได้สุทธิเฉลี่ยรายละ 1,000 บาทต่อวัน 

นอกจากนี้ การสำรวจพบว่าผู้บริโภคส่วนมากจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่มีรายได้ไม่มาก รองลงมาเป็นชนชั้นแรงงาน นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ โดยลูกค้ากว่าหนึ่งในสามจะมีรายได้ไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน และมากกว่าครึ่งให้เหตุผลในการซื้ออาหารสตรีทฟู๊ดว่าหาซื้อสะดวก หลากหลายชนิดเมนู และราคาถูก

Street Foods: วิถีชีวิต หรือ ไร้ระเบียบ

นอกจากนี้ สตรีทฟู๊ดยังกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ในหลายเมืองสตรีทฟู๊ดกลายเป็นแหล่งที่ต้องไปเช็คอินของนักท่องเที่ยววัยดิจิลทัล ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนค่ำ ๆ ลองไปเดินแถวเยาวราชดูก็จะเห็นว่าสตรีทฟู๊ดสร้างสีสันและเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนถนนสายนี้ หลายร้านริมทางมีคนเข้าคิวยาวจนไม่น่าเชื่อ และ CNN ก็ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในยี่สิบกว่าประเทศที่มีสตรีทฟู๊ดที่ดีที่สุดของโลกในปี 2561  

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้สตรีทฟู๊ดเป็นเสมือนหนึ่งวิถีชีวิตของคนไทยที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก และเป็นแหล่งจ้างงาน สร้างรายได้ ให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ จำนวนมาก สร้างซัพพลายเชนให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยประมาณว่ากว่าร้อยละ 60 ของรายได้ถูกจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ และร้อยละกว่า 80 เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระดับฐานรากได้กว้าง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ฝากท้องของผู้คนหลากอาชีพที่มีรายได้น้อย 

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สตรีทฟู๊ดและหาบเร่ แผงลอยเหล่านี้สร้างขึ้นมาอย่างไร้ระเบียบ ภาพของการขายของบนฟุตบาท กินพื้นที่ทางเท้า ไม่สะดวกต่อการสัญจรและความปลอดภัยของการสัญจร รวมถึงไร้ระเบียบ ความสะอาด และสุขอนามัย ที่สำคัญทำลายความสวยงามของทิวทัศน์ และหลายแห่ง พอตกดึกก็ผันไปเป็นร้านเหล้า ผับริมถนน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังไม่เสียภาษี ค่าเช่า หรือสินค้าที่ขายอาจไม่ได้มาตรฐาน ผิดกฎหมาย หรือละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ 

Street Foods: วิถีชีวิต หรือ ไร้ระเบียบ

กรุงเทพมหานครได้จัดระเบียบการค้าบนทางเท้าเพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชนมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งดำเนินการไปได้กว่า 500 แห่ง แต่ก็ยังเหลืออีกกว่า 175 แห่งที่ยังมีปัญหากันขัดแย้งกัน ซึ่งกรณีนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในมาตรการนี้ แต่สิ่งที่เห็น คือ ทางเท้า บริเวณป้ายรถเมล์ที่สำคัญหลายแห่งกลางเมืองดูสะอาดเป็นระเบียบมากขึ้น แต่แม่ค้าพ่อค้าหลายรายมีชีวิตที่ลำบากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ลดลง หนี้สินมากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะมุมมองทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดูก็มีเหตุผลทั้งสิ้น

ผมว่าตอนนี้ เรากำลังทำแบบไทย ๆ คือ มาเจอกันตรงกลาง โดย กทม. พยายามที่จะจัดระเบียบแผงลอย หาบเร่ใหม่ให้มีระเบียบ และคืนทางเท้าบางแห่งที่เหมาะสมให้กับแผงลอย ในบางวัน บางเวลา และในพื้นที่ที่กว้างขวางพอสมควร นอกจากนี้ยังมีการจัดสถานที่ที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด แต่อาจไม่อยู่ริมถนน เพื่อให้เป็นระเบียบ แต่ดูเหมือนไม่เป็นที่พอใจกับพ่อค้าแม่ค้ามากนัก หลายคนยังอยากขายบนฟุตบาทที่เดิม เพราะสะดวก ผู้คนเดินผ่านไปมามาก ส่วนคนซื้อก็ชอบ เพราะสะดวก เคยชิน ดูเหมือนแบบเดิมสมประโยชน์ทั้งคู่ ความมักง่าย ไร้ระเบียบ แต่สะดวกของคนซื้อและคนขาย

Street Foods: วิถีชีวิต หรือ ไร้ระเบียบ

ผมชอบที่สิงคโปร์จัดการสตรีทฟู๊ดของเขา เขาจัดให้หาบแร่ แผงลอย เข้าไปอยู่รวมกันในสถานที่เดียวกัน และริมถนนใหญ่ จัดเป็นเหมือนฟู๊ดคอร์ตริมถนน ติดฟุตบาท กลางเมือง มีการจัดร้าน ที่นั่ง ห้องน้ำ สะอาด ถูกสุขอนามัย มีอยู่หลาย ๆ แห่ง กระจายทั่วไป ราคาเป็นราคาสตรีทฟู๊ด ราคาขวัญใจคนรายได้น้อย นอกจากนี้ บางแห่งก็จัดให้อยู่ในตึกออฟฟิต ตึกอพาท์เม้นท์ หรือห้างขนาดใหญ่ที่เปิดชั้นล่างริมทางเดินให้เป็นฟีดคอร์ต บริการแก่คนทั่วไป การจัดการที่ถูกสุขอนามัย สะอาด มีระเบียบ การจัดร้านดูดี และราคาถูก ผมเห็นคนใช้บริการแน่นตลอดเวลา ผมว่าคงจัดการเรื่องส่วย เรื่องความสะอาด และไร้ระเบียบได้ดี

นอกจากนี้ ถนนบางแห่งกลางเมือง เขาจัดปิดบางถนน ในบางช่วงเวลา บางวัน เพื่อให้เป็นสตรีทฟู๊ดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งโต๊ะกันกลางถนน ร้านค้าตั้งกันบนฟุตบาท ผมเห็นคนเต็มถนน ครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือคนทำงานออฟฟิต พอทุ่มตรง ถนน Satay Street (เป็นถนน Boon Tat st. ช่วงระหว่าง Shenton Way และ Robinson rd.) ก็ปิดไม่ให้รถวิ่ง กลายเป็นที่ตั้งโต๊ะเก้าอี้ ร้านปิ้งสะเต๊ะริมถนนเรียงรายตลอดเส้นทางเต็มถนน กลิ่มปิ้งย่างหอมเตะจมูก หากใครจะซื้ออาหารอื่น ๆ ก็สั่งเพิ่มที่ศูนย์อาหาร Lau Pa sat ที่ตั้งอยู่ริมถนนติดกับถนนสายนี้ได้ ยิ่งดึกผู้คนยิ่งคึกคัก และเป็นจุดเช็คอินที่สำคัญของสิงคโปร์ เลิกประมาณสี่ห้าทุ่ม พอเช้าวันรุ่งขึ้นแอบไปดู สะอาดกริ๊บ เหมือนเดิม

ตอนนี้การจัดงานสตรีทฟู๊ดบ้านเราก็มีการเรียกร้องให้ กทม. คืนพื้นที่บางส่วนให้กับพ่อค้าแม่ค้าให้กลับมาขายได้เหมือนเดิม แต่ต้องมีการจัดการที่ดีกว่าเดิม ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมารูปแบบไหน บางรายได้กลับมา บางรายก็ไม่ได้ และบางรายได้ที่ใหม่ ซึ่งก็ไม่คุ้นที่ ลูกค้าประจำหาย เป็นที่ปวดหัวกับคนจัดการยิ่งนัก แต่แน่นอน บางรายต้องย้ายที่ไปขายในที่อื่น ๆ ที่รัฐจัดให้ และที่จัดให้ก็อยู่ข้างในซอย ไม่ค่อยมีคนเดินเข้าไป เป็นปัญหาที่ปวดหัวมาก ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มหันมาผ่อนผันบางพื้นที่ และดู ๆ ก็เหมือนเดิม แต่พอช่วงเวลาว่างให้ทำความสะอาดได้บ้าง เรื่องทั้งหมดนี้เป็นความเคยชินทั้งคนซื้อ คนขาย เพราะหลายเมืองเขาจัดใหม่ ๆ ก็โวยวายกัน แต่พอนานไป วิถีชีวิตใหม่ ก็เริ่มเข้าที่ กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่เริ่มคุ้นเคย แต่ต้องกล้าตัดสินใจเพื่อสร้างสิ่งที่สังคมไทยต้องการในอนาคตเกี่ยวกับสตรีทฟู๊ดและวิถีชีวิตใหม่