ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า เขย่าฐานผลิตรถยนต์3ล้านคัน

23 ก.พ. 2563 | 01:30 น.

 

 

ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกา ลากยาวมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ล้วนเป็น 2 เรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับจีน ในฐานะศูนย์รวมกำลังซื้อหลักที่ทั่วโลกอยากจะเชื่อมโยงด้วย จากที่มีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2562 ขณะนั้นโฟกัสผลที่เกิดมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกาเป็นหลัก ขณะที่ผู้ผลิตค่ายรถยนต์ต่างก็พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจโลกมีปัญหาการส่งออกอาจไม่เป็นไปตามเป้า ต้องหันมาโฟกัสตลาดภายในประเทศมากขึ้น

ปลายปี 2562 (31 ธ.ค. 62) จีนแจ้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และเริ่มกระจายเป็นข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ยิ่งซ้ำเติมทุกอุตสาหกรรมที่หวังจะพึ่งพาตลาดโลกในปี 2563 แต่ทุกอย่างล้มคลืนลง เพราะหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยิ่งสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ โดยไตรมาสแรกปีนี้ทุกเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตกหลุมอากาศ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออก รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นกลุ่มแรกที่ส่งสัญญาณออกมาตั้งแต่การประกาศลดคน ชะลอการผลิต ไปจนถึงประกาศหยุดผลิตชั่วคราว หลังคำสั่งซื้อแตะเบรก

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า  เขย่าฐานผลิตรถยนต์3ล้านคัน

ล่าสุดผลกระทบเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อ “เจนเนอรัลมอเตอร์ส” ยักษ์ใหญ่อเมริกันออกมาประ กาศปิดฉากธุรกิจในประ เทศไทย ทั้งในส่วนการขายผ่านแบรนด์ เชฟโรเลต และศูนย์การผลิตที่จังหวัดระยอง หลังเดินสายการผลิตปิกอัพตั้งแต่ปี 2543 มียอดสะสมกว่า1.4 ล้านคัน

กูรูด้านรถยนต์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการโบกมือลาของค่ายจีเอ็มในประเทศไทย มาจากหลายเหตุผลทั้งไม่ประสบผลสำเร็จในการทำตลาดรถยนต์บางรุ่นแข่งกับแบรนด์ญี่ปุ่น และถูกซ้ำเติมด้วยพิษเศรษฐกิจโลกที่ก่อตัวมาจากสงครามการค้าจีน-อเมริกา จนมาถึงพิษไวรัสโคโรนา ที่เขย่าฐานการผลิตรถยนต์ในจีนพากระทบถึงไทยในแง่ชิ้นส่วนรถยนต์ และการส่งออกรถยนต์จากไทยไปทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” ถอยการผลิตรถเก๋งในทุกฐานการผลิตในอาเซียน ก่อนที่จะไปรุกหนักผลิตรถปิกอัพ โดยฐานการผลิตในไทยจับมือกับอีซูซุรวมกันผลิตอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จีเอ็มจะผลิตเครื่องยนต์ได้เองที่ระยอง จนสุดท้ายการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า ยอดขายร่วงลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

มีการตั้งคำถามว่า “ถ้ารถยนต์ไฟฟ้ามาถึงเต็มตัวจะเกิดอะไรขึ้น!” เพราะขณะนี้รัฐบาลมุ่งโฟกัสแต่รถยนต์ไฟฟ้า แทนที่จะวิ่งนโยบายคู่ขนานไปด้วยกันโดยการรักษาฐานการผลิตรถยนต์ที่มีอยู่แล้วเอาไว้ ด้วยศักยภาพไทยมีความสามารถของเครื่องจักร ผลิตรถยนต์รวมกันที่ 3 ล้านคัน (ปัจจุบันผลิตได้จริงราว 2 -2.1 ล้านคัน ครึ่งหนึ่งส่งออกและอีกครึ่งขายในประเทศ)

นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจรุมเร้าแล้ว เรื่อง“นโยบาย”ที่แต่ละประเทศโฟกัสมุ่งทิศไปยังการผลิตรถไฟฟ้าหรือรถอีวี ทำให้การผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในสะเทือนไปทั่วโลก บางรายยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว บางรายยังไม่พร้อมที่จะขับเคลื่อนได้ทันที

ปี 2561 ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ลำดับที่ 10 ของโลก ด้วยยอดการผลิต 2.16 ล้านคัน ชนะแคนาดา รัสเซีย และอังกฤษ หลายค่ายเข้ามาปักฐานผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกและขายในประเทศ และที่น่าจับตา คือแรงกระเพื่อมจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น กำลังทำให้ค่ายรถที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยและพึ่งพาตลาดส่งออกเสียรังวัด เขย่าความสามารถในการผลิตที่มีมากถึง 3 ล้านคัน น่าติดตามใครจะเป็นรายต่อไป!

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563