โควิด-19 หนักกว่าคาด ลุงตู่ต้องตั้งวอร์รูมทันที

21 ก.พ. 2563 | 09:50 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3551 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 ก.พ.63  โดย...กระบี่เดียวดาย

 

 

 

     สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการย่ำแย่ หลังเผชิญพิษภัยโคโรนาถล่มซ้ำเติม ทำให้การท่องเที่ยวทรุดตัวลง อันเนื่องมาจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เมื่อจีนหยุดเที่ยวเพื่อเคลียร์โคโรนานั่นหมายความว่าเม็ดเงินจะหายไปเป็นแสนล้านบาท และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งยังไม่มีใครพยากรณ์ว่าจะถึงสิ้นสุดเมื่อไร ธุรกิจต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ผู้ผลิตสินค้าขายให้นักท่องเที่ยว เกษตรกรผลิตอาหารขายนักท่องเที่ยว ก็ย่อมประสบปัญหาตามมาอย่างหาทางลงไม่เจอ

     อันนั้นแค่เป็นภาพรวมภายในประเทศ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สายการเดินเรือหลักที่เราพึ่งพา เป็นสายการเดินเรือจีน ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ที่จีน เมื่อจีนหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือกระทั่งหากมีการปฏิเสธเรือจีนเทียบท่า หรือทางกลับกันเรือไปรับตู้สินค้าจากจีนเพื่อส่งสินค้า ไม่สามารถเทียบท่าที่จีนได้ จะใช้ตู้สินค้าที่ไหนขนส่งสินค้า

     อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลก ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ ไม่ให้กระทบแบบล้มทั้งยืนในคราวเดียว

 

     “วิกฤติโควิด-19 คราวนี้หนักหนาสาหัสมากกว่าที่ประเมินกันไว้ในเบื้องต้น หนักหนากว่า โรคระบาดซาร์ส เมอร์สหลายเท่านัก ขณะนี้หลายประเทศทางยุโรป เริ่มปฏิเสธคนจากเอเชียกันแล้วหรือแม้ไม่ปฏิเสธกันโดยตรง แต่เริ่มมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรและชวนคบหาเหมือนสถานการณ์ก่อนเกิดโรคโคโรนา”

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งหลักเรื่องนี้ให้ดี ทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ต้องตั้งวอร์รูมระดับรัฐบาล ระดมทุกภาคส่วนเข้ามาในวอร์รูมปฏิบัติการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันต้องประเมินความเคลื่อนไหวหรือพัฒนาการของสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าลุกลามยืดเยื้อ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน จะดำเนินการอย่างไร ลุกลามแล้วคุมได้ทำอย่างไร ฟื้นฟูเศรษฐกิจ องคาพยพทางเศรษฐกิจอย่างไรให้เร็วที่สุดหลังการระบาดของโรคสิ้นสุดลง

     “ลุงตู่ต้องลงกำกับด้วยตัวเองงานนี้ เพราะทีมจำเป็นต้องมีเอกภาพ ไม่เพียงพอหากพึ่งครม.เศรษฐกิจที่เล่นกันคนละคีย์และหลายคนในครม.ยังไม่ตระหนักเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่พร้อมกัน โอกาสที่จะ Fail สูงมาก งานนี้เดิมพันสูง ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ควรมองเป็นเรื่องเล็กคุมได้ เอาอยู่อย่างเด็ดขาด เป็นภัยใหญ่ระดับมหันตภัยเลยทีเดียว”

     แม้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เงินเฟ้อต่ำ ว่างงานต่ำ หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่อยู่ในวินัยการเงินการคลัง โดยอยู่ในระดับ 41.3% ของจีดีพี มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองรับหนี้ระยะสั้นได้ 3.7 เท่า ประเทศได้รับการปรับอันดับเครดิตที่  BBB+ สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนก็ตาม

     “แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้แม้แต่วินาทีเดียว”

     นอกจากจัดการรับมือโควิด-19 ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนของเร่งด่วนหรือเร่งด่วนพิเศษแล้ว ยังต้องจัดการในด้านเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะหลังจากงบประมาณประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

     โครงการต่างๆ ที่ใช้งบลงทุนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 20% ของงบประมาณรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือเม็ดเงิน 6 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย ต้องเร่งเบิกจ่ายออกไปให้เร็วที่สุด

     การเบิกจ่ายงบประมาณได้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงการ จึงต้องขันนอตหน่วยราชการให้พร้อม

     แว่วว่ากระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเดินหน้าอย่างเต็มกำลังอยู่ในขณะนี้ โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายทันทีก้อนแรก 4 หมื่นล้านบาท และมีเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่จะลงทันทีในประเทศอีก 1 แสนล้านบาท

     ดีเดย์ สตาร์ตเดือนเมษายนนี้เงินต้องออกทันที !

     ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันงานนี้ เศรษฐกิจไทยหนักหนากว่าที่คาดหลายเท่า

     ไม่ร่วมมือ ร่วมใจกันอย่างเต็มกำลัง ไปไม่ไหว

     ชาวบ้านร้านตลาด บ่นกันระงม อยู่กันไม่ไหวแล้ว !!!