เศรษฐกิจไทย ไร้ปาฏิหาริย์ สลบยาว U-Shape

22 ก.พ. 2563 | 02:50 น.

เป็นที่ชัดเจนแล้วครับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาการสาหัสกว่าที่คาดกันไว้ เห็นได้จากบรรดาสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจทั้งหลายต่างประกาศปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของไทยในปีนี้ลงมาเหลือไม่ถึง 2% เช่น กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดจีดีพีปี 2563 เหลือ 1.4% จากเดิมที่คาดไว้ 2.2% ธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับเหลือ 1.5% กลุ่มทิสโก้ปรับเหลือ 1.7% ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับเหลือ 1.8% ธนาคารกสิกรไทยปรับเหลือ 2%

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ปกติจะมองภาพเศรษฐกิจเป็นบวกมากกว่าเอกชน อย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ก็ประกาศปรับลดจีดีพีปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.7-3.7% ปรับลงเหลือ 1.5-2.5% หลังตัวเลขจีดีพีปี 2562 โตแค่ 2.4% ตํ่าสุดในรอบ 5 ปี

เมื่อดูในรายละเอียดของประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ของสภาพัฒน์ถือว่ามองในเชิงบวกอย่างมาก เพราะตัวเลขการเติบโตที่ 1.5-2.5% เป็นการเติบโตที่อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.2% การส่งออกของไทยยังโต 2% ภัยแล้งไม่ลุกลามมากเกินไป กระทบภาคการผลิตไม่เกิน 5%

ขณะที่ปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณล่าช้าคลี่คลายเบิกจ่ายได้ 91.2% ในภาพรวม งบลงทุนเบิกจ่ายได้ไม่ตํ่ากว่า 65% และการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาได้ โดยสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจบได้ใน 3 เดือน หรือราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีนักท่องเที่ยว 37 ล้านคน รายได้ไม่ตํ่ากว่า 1.73 ล้านล้านบาท


 

แต่สัญญาณสำคัญที่สภาพัฒน์ส่งออกมาดังๆ ระหว่างการแถลงข่าวจีดีพี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ “เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี หรือช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีความเสี่ยงที่จะติดลบ สอดคล้องกับ TMB Analytics ของธนาคารทหารไทยที่ออกมาฟันธงว่า เศรษฐกิจไตรมาสมีแนวโน้มติดลบ 2% แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นภาวะถดถอย เพราะถ้าปัจจัยลบต่างๆ คลี่คลาย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 และภัยแล้งจบได้ภายใน 3 เดือน จีดีพีจะกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 2

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ นับว่าอาการสาหัสกว่าที่หลายคนคิด

ยิ่งถ้าถอดรหัสจากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็จะพบว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวตํ่ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 จะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างแน่นอน

 

เศรษฐกิจไทย ไร้ปาฏิหาริย์  สลบยาว  U-Shape

 

มีคำถามตามมาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่ คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาฟันธงว่า หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลายเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 2564

 

สอดคล้องกับข้อความในจดหมายเปิดผนึกที่ผู้ว่าการธปท.ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุถึงระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นดัชนีวัดกำลังซื้อ จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในอาการซึมๆ แบบนี้ไปจนถึงกลางปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

แต่การฟื้นตัวครั้งนี้เราอย่าหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ หรือสิ่งอัศจรรย์มาดลบันดาลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรุนแรง หรือในภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า โตแบบ V-Shape ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่ายๆ คือเมื่อเศรษฐกิจถึงจุดตํ่าสุดแล้วจะพุ่งขึ้นเหมือนตัว V แบบนี้คงเป็นไปได้ยาก

เท่าที่ผมได้พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนฟันธงตรงกันว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในลักษณะตัว U หรือ U-Shape โดยที่ฐานของตัว U จะยาวกว่าตัวยูปกติ แต่จะยาวแค่ไหน ผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในตอนหน้า

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563