วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน

19 ก.พ. 2563 | 10:08 น.

วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน

เดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ผลผลิตผลไม้ของไทยเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งได้แก่ ทุเรียน มังคุคและเงาะ ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะเกิดโรคระบาด “โควิด-19 (COVID-19)” หรือ “โคโรนาไวรัส” ในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของผลไม้ไทยว่า “กระทบการส่งออกผลไม้ไทยในตลาดจีนหรือไม่?”

วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน

 

ผมขอแบ่งผลผลิตทุเรียนไทยตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2562 ออกเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือช่วงปี 2553 ถึง 2559 กับช่วงปี 2560 ถึง 2562 ช่วงแรกอัตราการขยายตัวของผลผลิตทุเรียนโดยเฉลี่ยติดลบ 8% (เนื่องจากการโค่นต้นทุเรียนทิ้งจากปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า รวมทั้งเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทนเพราะได้ราคาดีกว่า)

 

ขณะช่วง 3 ปีหลังล่าสุด อัตราการขยายตัวของผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 26% ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนตัน ปี 2562 ไทยผลิตทุเรียนได้ 1 ล้านตัน และในปี 2563 คาดมีผลผลิตออกทั้งหมด 1.1 ล้านตันเพิ่มขึ้น 15% โดยภาคตะวันออกให้ผลิตมากสุดคิดเป็น 55% ของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ และภาคใต้ 36% คำถามคือ “ภายใต้ COVID-19 กระทบการส่งออกทุเรียนไทยในตลาดจีนหรือไม่?”

 

ผมใช้กรอบในการวิเคราะห์เรื่องนี้จากผลกระทบจากโรคซาร์ส (SARs) เมื่อปี 2546 เพราะเดือนเริ่มต้นโรคซาร์สเหมือนกับโควิค-19 โดยเกิดช่วงปลายปีเหมือนกัน เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบหนักคือช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 กับไตรมาสที่ 2 ของปี 2546 และพบว่าระหว่าง Q1 กับ Q2 อัตราขยายตัวของมูลค่าค้าปลีกจีนลดลง 4% อัตราการขยายตัวผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง 3% และอัตราการขยายตัวการนำเข้าสินค้าของจีนลดลง 20%  มูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย (สด แห้งและแช่แข็ง)เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาท 89% เป็นการส่งออกทุเรียนสด และ 10% เป็นทุเรียนแช่แข็ง

 

 ระหว่างปี 2553 ถึง 2562 การส่งออกทุเรียนสดของไทยไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 207,501 แสนตัน เป็น 655,346 ตัน ในปี 2562 โดย 98% ส่งออกไป 3 ตลาดคือจีน 375,299 ตัน (สัดส่วน 57%) ไปเวียดนาม 164,526 ตัน (สัดส่วน 25%) และไปฮ่องกง 101,348 ตัน (สัดส่วน15%) มูลค่าส่งออกทุเรียนสดปี 2562 โดยรวมเท่ากับ 45,000 ล้านบาท

วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน

ที่น่าสนใจคือการนำเข้าทุเรียนสดของเวียดนาม และฮ่องกง “มีความผันผวน” เช่นในเวียดนามปี 2560 ไทยส่งออกทุเรียนไปเวียดนามมากกว่า 2.5 แสนตัน จากเดิมที่ส่งออกต่ำกว่า 1 แสนตัน แต่หลังจากนั้น 2 ปีการส่งออกทุเรียนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 1.6 แสนตัน ในปี 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสดเป็นส่วนใหญ่ ตามด้วยการส่งออกทุเรียนอบแห้งมูลค่าไม่มากนักเพียงปีละ 200 ล้านบาท ตลาดหลักเป็นจีนและฮ่องกง (จีน 53% และฮ่องกง 18%) และมีการส่งออกทุเรียนแช่แข็งปีละ 5,380 ล้านบาท ตลาดหลักจีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และแคนาดา

 

วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน

ภายใต้ “COVID-19” การส่งออกทุเรียนไทยในตลาดจีนกระทบแน่ “แต่จะมากน้อยแค่ไหน” หากใช้ฐานการคิดจากผลกระทบโรคซาร์สในเบื้องต้นผมคาดว่าจะกระทบปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งปีในตลาดจีนและฮ่องกง “ลดลง 5 หมื่น ถึง 1  แสนตัน มูลค่า 6,000 -12,000 ล้านบาท” ช่วงเดือนเสี่ยงจะอยู่ใน “เดือนในไตรมาสที่ 2” โดยจะกระทบช่วงเดือน เมษายนที่จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทย 1 แสนตัน ซึ่งเป็นเดือนที่มีการนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุดในรอบปี ตามด้วยเดือนพฤษภาคมที่นำเข้า 4 หมื่นตัน

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงทุเรียนไทยในปี 2563 ผมสามารถไล่เรียงดังนี้คือ 1.ผลกระทบ COVID-19 ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น 2.ปัจจุบันการส่งออกผลไม้ของไทยที่ส่งไปจีนต้องขึ้นทะเบียน GAP ระหว่างไทยกับจีน ซึ่งครอบคลุมสินค้า 5 สินค้าคือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย และลิ้นจี่ (มะพร้าวน้ำหอม กำลังถูกจับตามอง เช่นกัน) แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีหน้าที่หลักในการลงทะเบียนและตรวจสอบมาตรฐาน GAP ของประเทศได้ถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง ผมคิดว่าจะกระทบต่อการทำมาตรฐาน GAP ของประเทศแน่ๆ 3.ภัยแล้งจะเป็นอีกปัจจัยคุกคามผลผลิตทุเรียนในปีนี้เช่นกัน

 

ดังนั้นแนวทางออกไทยต้องเร่งทำตลาดไปยังตลาดที่มีโอกาส เช่น ทุเรียนแช่แข็งไปสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย แคนาดา  และทุเรียนกวนไปรัสเซีย เป็นต้น

วิกฤติ “โคโรนา” กับอนาคตทุเรียนไทยในจีน