"เอเชียใต้" ทางเลือกใหม่ สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฝ่าวิกฤติ COVID-19

19 ก.พ. 2563 | 08:05 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศในราว 2.9-3 ล้านล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งจ้างงานหลักของคนไทย เพราะภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงานในราว 7.7 ล้านคน หรือ 20.3% ของการจ้างงานรวมของทั้งประเทศ

โดยในปี 2019 ประเทศ ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 39.66 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยคือ นักท่องเที่ยวจีน ที่คิดเป็นสัดส่วนในราว 27.6%  ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือนั่นหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่เราเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 คน 1 คนในนั้นจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

ทั้งนี้เพราะในปี 2019 เราต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 10.98 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนนั้นเอง คำถามที่สำคัญคือ เมื่อไวรัส COVID-19 ระบาด และยังไม่มีทีท่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงไป นั่นทำให้อย่างน้อยครึ่งแรกของปี 2020 นี้ นักท่องเที่ยวจากจีนจะลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน เราจะต้องรับมือกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวอย่างไร

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสทำงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวมาบ้าง ขออนุญาตนำเสนอทางเลือกใหม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวดังนี้ครับ

1. ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ หากพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยในปี 2019 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 20.1% โดยในกลุ่มนี้นักท่องเที่ยวเอเชียใต้ กลุ่มใหญ่ที่สุดคือนักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.98 ล้านคนในปี 2019 และขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.15% เมื่อเทียบกับปี 2018 และนี่คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวและมีศักยภาพสูงที่สุดที่เราควรจะดึงดูดเข้ามาในประเทศไทย

2. กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียและเอเชียใต้ โดยปกติจะเข้ามาท่องเที่ยวด้วยระยะเวลา 4-5 วัน และ 6-7 วัน โดยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในเขต กทม. พัทยา และ ภูเก็ต โดยแต่ละคนจะมีรายจ่ายในราว 40,000-45,000 บาท/คน/ทริป ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด เพื่อมาชดเชยรายได้ที่ขาดหายคือ เราต้อง 1) ทำอย่างไรให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

2) ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น 3) ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยยาวนานมากขึ้น 4) ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปทำกิจกรรมในหลากหลายพื้นที่หลากหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น และ 5) ทำอย่างไรถึงจะให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่เข้ามาแล้วบอกต่อให้คนอื่นๆ อยากจะมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น

3. ปัจจุบันอินเดียคือ เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (รองจาก จีน และสหรัฐฯ) หากวัดตามมูลค่า GDP (ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับกำลังซื้อให้เท่ากันในทุกประเทศแล้ว) เอเชียใต้ หมายถึง บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และมัลดีฟ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง หรือในกลุ่มที่เรียกว่า เศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ดังนั้นในประเทศเหล่านี้มีนักท่องเที่ยวกลางไปจนถึงระดับ High-End เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี การจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องเข้าใจความต้องการแท้จริง (Insight) ของพวกเขา


 

 

4. จากการทำงานวิจัยด้านการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทำให้เราทราบว่า สำหรับคนเอเชียใต้โดยเฉพาะคนอินเดีย ประเทศไทย ไม่ใช่จุดหมายการเดินทางที่หรูหราที่สุด ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ High-End ที่สุด สำหรับพวกเขา เพราะถ้าเขาเป็นมหาเศรษฐี เขาจะมุ่งหน้าไปอังกฤษ ยุโรป และ ญี่ปุ่น เป็นอันดับแรก ถ้าเขาจะไปช็อปปิ้ง ดูไบ คือที่ที่เขาจะนึกถึง ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวที่มีเด็กต้องการทำกิจกรรมต่างๆ สิงคโปร์ คือจุดหมายปลายทางของพวกเขา

ประเทศไทยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายการท่องเที่ยวกลุ่มรองลงมา กลุ่มรายได้ระดับกลาง-บน ที่ไม่ได้ต้องใช้งบประมาณสูงนัก ราคาไม่แพงมากนัก สำหรับลูกค้าอินเดีย ไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ เนปาล ภูฏาน เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ Insight ของลูกค้ากลุ่มนี้คือ เขาพิจารณาว่า เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่เขาไปได้และใช้จ่ายในระดับเดียวกัน ไทย คือ

 “มาตรฐานด้านความปลอดภัย คนกลุ่มนี้พิจารณาว่า มาประเทศไทยมีความปลอดภัยทั้งในเรื่องของการเดินทาง พวกเขาสามารถออกมาเดินเล่นในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย สามารถกินอาหารจากร้านค้าริมถนนได้อย่างปลอดภัย สามารถที่จะจับจ่ายซื้อของได้โดยไม่ถูกโกง ถ้าเขาจะเล่นสวนสนุก สวนนํ้า แน่นอนอาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่า Disney Land หรือ Sea World แต่อย่างน้อยก็สะอาด ปลอดภัย และนั่นทำให้เขาเลือกเมืองไทย ดังนั้นถ้าอยากให้เขามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น เราต้องสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้ดีที่สุด เพื่อรักษาฐานลูกค้ากลุ่มกลาง-บน นี้เอาไว้

5. สำหรับลูกค้ากลุ่ม High-end แน่นอนเราคงไม่สามารถไปแข่งในหลายๆ เรื่องกับยุโรป และญี่ปุ่นได้ แต่เราน่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะได้มากขึ้น อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่ม Motor Sport ที่ติดตามนักแข่งไปในทุกๆ สนาม ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีราคาค่าบัตรเข้าชม motor sport ถูกที่สุดในโลก โดยเฉพาะการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ที่ถูกติดตามมากที่สุด นั่นคือ MotoGP ซึ่งแน่นอนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ต้องติดตามการแข่งขันหลายวัน และยังเดินทางไปยังเมืองรอง คือ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อชมการแข่งขัน

คำถามคือ เราสามารถสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยได้หรือไม่ นอกจากการท่องเที่ยวแบบความต้องการเฉพาะทางในลักษณะนี้แล้ว รูปแบบการท่องเที่ยวแบบ Wellness ที่หรูหรา และ มีมาตรฐานสูง เพื่อดึงดูดกลุ่ม High-end ก็เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นวดไทย Spa และ Treatment แบบไทยๆ เริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าระดับบนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

6.แต่แน่นอนว่าการจะให้พวกเขาอยู่นานขึ้น ลงไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไปเมืองรอง ไปทำกิจกรรมใหม่ๆ มากขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งคือ Accessibility หรือการเข้าถึงที่ง่ายดายสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคมนาคมขนส่ง ป้ายบอกทาง Application ที่สนับสนุนข้อมูลด้านแหล่งท่องเที่ยว และงานเทศกาลรวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

 

และอีกเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเอเชียใต้สามารถเข้าถึงและอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ยาวนาน นั่นคือเรื่องของอาหารการกิน แน่นอนว่า ชาวเอเชียใต้มีความหลากหลายอย่างยิ่งในเรื่องการนับถือศาสนา บางศาสนาไม่รับประทานเนื้อวัว บางศาสนาไม่รับประทานเนื้อหมูและต้องทานฮาลาล นักท่องเที่ยวจำนวนมากรับประทานมังสวิรัติ และหลายๆ คนทานมังสวิรัติ และยังมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมคือไม่รับประทานไข่ และไม่รับประทานผักที่มีหัวใต้ดิน เช่น ต้นหอม กระเทียม

นั่นทำให้เราคงต้องพัฒนามาตรฐานการประกอบอาหารไทยที่สามารถทำได้ตามคำสั่งความต้องการของลูกค้า เพื่อดึงดูดให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อท้องอิ่ม โดยเฉพาะอิ่มจากอาหารไทย อร่อยๆ ที่ถูกต้องตามหลักการทางศาสนาของเขา หลังจากนี้อะไรๆ ก็เป็นที่พอใจของนักท่องเที่ยวแล้วครับ

7. ท้ายสุด เพื่อเรียนรู้ความต้องการแท้จริง เราคงต้องพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลโดย AI ครับ เพื่อติดตามวิเคราะห์ว่า ในโลก Social Media นักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเป้าหมาย เหล่านี้ เขานึกถึง เขียนถึง คิดถึง เรื่องใดบ้างเวลาที่พวกเขานึกถึงการท่องเที่ยว และเมื่อพวกเขานึกถึงประเทศไทย เพื่อให้เราสามารถปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้อย่างทันท่วงที

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts” ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)