โชคดี หรือ ใจดำ ที่ห้าม‘เวสเตอร์ดัม’เทียบท่า

19 ก.พ. 2563 | 04:55 น.

ยังกลายเป็นประเด็นร้อน สำหรับเรือสำราญสุดหรู “เวสเตอร์ดัม” ที่เคว้งทั้งเรือ เคว้งทั้งผู้โดยสารและลูกเรือรวมกว่า 2,200 คน ที่ล้วนอยู่ในระดับคนมีฐานะทั้งสิ้น

 

หลังจากท่าเรือแหลมฉบังปฏิเสธการขอเทียบท่า “ฉุกเฉิน” เป็นการปฏิเสธการเข้าเทียบท่าเช่นเดียวกับ 3 ประเทศ/ดินแดน คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ทำให้กัมพูชา กลายเป็นประเทศที่ 5 ที่กล้าอนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่า แต่ทว่าก็เป็นการเทียบท่าเพื่อหยุดลอยเคว้ง กระจายการเดินทางต่อไปในประเทศมาเลเซียและไทย จนมีปัญหาตามมาอย่างไม่จบไม่สิ้น

ย้อนไปคืนวันที่ 12 และ 13 กุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลและหน่วยงานของไทยปฏิเสธเสียงแข็งในการไม่อนุญาตให้เทียบท่า แต่ว่าให้ดูแลตามหลักมนุษยธรรมได้ หากต้องการยา อาหาร นํ้ามันเรือ กลายเป็นว่าสังคมไทยต้องถกเถียงกันเอง ฝั่งหนึ่งมองว่าทำถูกแล้วที่ปฏิเสธ อีกฝั่งตั้งคำถามว่ารัฐบาลใจร้ายเกินไปหรือไม่

 

โชคดี หรือ ใจดำ  ที่ห้าม‘เวสเตอร์ดัม’เทียบท่า

 

แต่ทุกอย่างล้วนมีเหตุผล ที่ไม่อาจจะอธิบายให้สังคมเห็นภาพความจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินและท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาตอนนี้ ซึ่งผมมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในรัฐบาล ก็นำมาขยายให้เห็นภาพต่อ

คำตอบที่ได้จากคำถามแรกคือ ทำไมไม่ให้เรือจอดที่เวสเตอร์ดัม คือถ้า 2,200 คน ลงจากเรือแล้ว ให้เขาไปอยู่ที่ไหนนั่นเพราะประเทศไทยไม่มีสถานที่รองรับตามแนวชายฝั่งที่พร้อมรับคนจำนวนมากขนาดนั้น ในการ ขอจอดฉุกเฉิน และอยู่ในการควบคุมการระบาดของโรค จะใช้หน่วยทหารของกองทัพเรือ เหมือนกับคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่น 138 คน ที่ใช้พื้นที่กองทัพเรือสัตหีบ ก็ไม่พอทั้งสถานที่และกำลังคนที่จะต้องดึงมาร่วมภารกิจ

แม้ว่าหาสถานที่รองรับคนได้ 2,200 คนจริง ก็ต้องแยกการนอน คัดกรอง แยกคนป่วยไปยังโรงพยาบาล ถามว่า สถานพยาบาลพร้อมหรือไม่ ที่ไหนรับไหว


 

 

สเต็ปต่อมา ถ้า 2 ขั้นตอนทำได้จริง ถามว่าคน 2,200 คน จะเข้าใจไหมว่า เขาต้องถูกประเทศไทยกักตัวตามมาตรฐาน 14 วัน ก่อนให้เดินทางต่อ เพราะหากไม่กักตัวตามมาตรฐาน ประเทศไทยก็เอาตัวเองไปเสี่ยงกับการหลุดจากเป็นสุดยอดอันดับ 6 ของโลกในการควบคุมโรค

ผู้ใหญ่ท่านนี้ชวนคิดต่ออีกว่า ลองคิดต่อว่าถ้าขั้นตอนทุกอย่างผ่านมาได้หมด (ทั้งที่เป็นไปได้ยากตั้งแต่ต้น) หากผ่านไป 14 วัน หลังกักตัว ควบคุมพื้นที่ แล้วเขาต้องเดินทางต่อ โดยเครื่องบิน คำถามคือ ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองจะ วุ่นวายขนาดไหน เพราะหมายถึงการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงแข็งขันกับสถานทูตแต่ละประเทศ ในการยื่นมือ เข้ามาช่วย เพราะอย่าลืมว่าแต่ละคนบนเรือ มาโดยการลงจอดฉุกเฉิน โดยที่วีซ่าจุดหมายปลายทางไม่ได้อยู่ที่ประเทศ ไทยเลยตั้งแต่ต้น

 

 

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการคิดหน้าคิดหลัง คิดทั้ง ระบบในการตัดสินใจช่วยหรือไม่ช่วย ถ้าวันนั้นตัดสินใจช่วยแล้วช่วยอย่างไร ถ้าไม่ช่วยแล้วจะต้องเจออะไรตามมา ซึ่งผมเองก็ยังไม่ได้เขียนถึงว่า ถ้าต้องใช้รถบัสในการลำเลียงคน 2,200 คนต้องใช้รถกี่คัน ใช้หน้ากากอนามัยกี่ชิ้น

ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในภาวการณ์ควบคุมโรค มาก กว่าการสรุปแบบง่ายๆ ว่า ใจดำและไร้มนุษยธรรม

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563