อย่างน้อย 6 เรื่องที่จีนต้องเร่งขับเคลื่อนฟื้นศก.

16 ก.พ. 2563 | 11:55 น.

 

 

ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต  จากผลกระทบดังกล่าวถ้ายืดเยื้อนาน ลากเศรษฐกิจในประเทศจีนและเศรษฐกิจโลกชะงักงัน  เพราะจีนมีเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดไปทั่วโลก

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ จีน จะฟื้นตัวอย่างไร การค้า ท่องเที่ยวจีนต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ รวมถึงการเติบโตของจีดีพีจีนจะเป็นอย่างไร มาอ่านมุมมอง รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างน่าสนใจ

-มองเศรษฐกิจจีนนับจากนี้ไป

เวลามองเศรษฐกิจต้องแยกเป็นระยะสั้นระยะยาว สิ่งแรก จะต้องขับเคลื่อนคนให้ออกมาทำกิจกรรมอย่างน้อย 6 เรื่องก่อน ไล่ตั้งแต่ 1. เรื่องการหมุนเวียนของการผลิตที่ต้องขับเคลื่อนได้  ซึ่งเวลานี้ทั้งโรงงานผลิต บริษัทข้ามชาติ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีแรงงาน การผลิตชะงัก เลยทำให้กิจกรรมการผลิตที่สำคัญของจีนหยุด เพราะเศรษฐกิจจีนเป็นเรียลเซ็กเตอร์(เศรษฐกิจที่อิงกับการผลิต) ดังนั้นต้องทำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด

“เวลานี้โรงงานที่จีนมีปัญหามากเพราะเป็นซัพพายเชนสินค้าไอทีของโลกให้กับแบนด์ดังๆเช่น “แอปเปิล”  ซึ่งเฉพาะจ้างคนผลิตเข้าสู่ระบบจ้างงานของแอปเปิลมีแรงงานประมาณ 1 ล้านคนกระจายอยู่ในจีนโดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น  และเจิ้งโจว  ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางการผลิตของจีนหรือเป็นดีทรอยต์ของจีน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์  มีโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายใหญ่จากอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปและเกาหลี ทุกแบรนด์อยู่ในเมืองอู่ฮั่น”

2.จะต้องกอบกู้การไหลเวียนของการเดินทางให้กลับมา เนื่องจากเวลานี้แค่เดินทางในเมืองโดยรถใต้ดิน รถบัส หรือระบบขนส่งทุกอย่างชะงักหมดจำเป็นต้องรีบกอบกู้  3.การไหลเวียนของการบริโภคต้องเกิดขึ้น เพราะตอนนี้คนไม่กล้าเดินห้างไม่กล้าจับจ่าย 4.ต้องกอบกู้การไหลเวียนของภาคบริการ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง บันเทิง กีฬา คอนเสิร์ต 

“จะเห็นว่าช่วงเทศกาลตรุษจีน 7 วัน ทำให้จีนสูญรายได้ไป 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนจับจ่ายน้อยลง”

5.ต้องกอบกู้การไหลเวียนของภาคการเงิน เนื่องจากตอนนี้ธนาคารจำนวนมากยังไม่กล้าปล่อยกู้ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของจีนกระทบหนัก ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีในจีนมีสัดส่วน 80-90%  ในขณที่สถาบันการเงินกลัวหนี้เสีย ทำให้การเงินชะงักงัน 6.ต้องกอบกู้การไหลเวียนของระบบโลจิสติกส์ เช่น การขนส่งสินค้า สต๊อกสินค้า 

ทั้ง 6 ส่วนนี้จะขับเคลื่อนได้รัฐบาลจีนจะต้องควบคุมให้เห็นว่าจำนวนคนตาย และคนติดเชื้อไวรัสโคโรนาลดลง  มีการค้นคว้าเรื่องยาที่สามารถมารักษาได้ร่วมกับประชาคมโลก ประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้น 

นอกจากนี้จีนจะต้องใช้ระบบ 5 จี ให้เป็นประโยชน์ให้มากขึ้น  เช่น ต่อไปเวลาเจาะเลือดจะต้องใช้หุ่นยนต์เจาะ โอกาสที่จะทำให้แพทย์พยาบาลสัมผัสคนป่วยมีน้อยลง  หรือใช้เทคโนโลยี AI หรือหุ่นยนต์มาช่วยทางการแพทย์    รวมทั้งต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสมือนจริง เช่น ทำให้เกิดการบริโภคทางออนไลน์ เช่น สั่งซื้อสินค้า คนไม่ต้องสัมผัสกันก็จะใช้พลังงานน้อยลง 

“ทั้งหมดนี้ถ้ารีบทำได้ก็จะช่วยตอบโจทย์ในการกระตุ้นและกอบกู้เศรษฐกิจจีนได้ในระยะสั้น เพื่อให้ตั้งหลักให้ได้ก่อน โดยที่รัฐบาลจีนต้องมีเครื่องมือเสริมด้านนโยบายการเงิน เช่น การออกมาลดดอกเบี้ย และลดการให้ธนาคารพาณิชย์ถือเงินสดสำรองตามกฎหมายจาก 12.5%  ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารรับฝากเงิน 100 หยวน ธนาคารจะต้องเก็บไว้ 12.5%   ของ 100% ที่คนนำเงินมาฝาก ซึ่งตรงนี้สามารถลดลงได้อีกจาก 12.5% ลงมาที่ 12% และลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากมาตรฐานโลกสามารถลดลงได้ 8-9%

อย่างน้อย 6 เรื่องที่จีนต้องเร่งขับเคลื่อนฟื้นศก.

รศ .ดร.สมภพ มานะรังสรรค์

-ภาคท่องเที่ยวฟื้นยาก- การค้าต้องใช้เวลา

รศ.ดร.สมภพ กล่าวอีกว่าถ้าการค้าในจีนเริ่มขับเคลื่อนได้ ก็จะทำให้การผลิตและการค้าโลกไม่กระทบมาก  แต่ที่จะฟื้นยากคือภาคท่องเที่ยว  เพราะตามภาวะปกติจีนออกท่องเที่ยวนอกประเทศ ไปเที่ยวทั่วโลก 150 ล้านคน ในจำนวนนี้เฉพาะมาเที่ยวประเทศไทยก็ประมาณ 11 ล้านคน ตรงนี้มั่นใจว่าจะต้องใช้เวลาเป็นปีเหมือนครั้งที่เกิดโรคซาร์ส ซึ่งในขณะนั้นต้องใช้เวลาฟื้นภาคท่องเที่ยวให้กลับมาสู่ภาวะปกติประมาณ 14- 17 เดือน

สำหรับประเทศไทยถ้ามองผลทางจิตวิทยาที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาเที่ยวไทยอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยในครึ่งหลังปี 2563 จะค่อยๆ เริ่มมองเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

ดังนั้นปี 2563 ไทยจะคาดหวังให้นักท่องเที่ยวเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะยากขึ้น เพราะคนยังไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยว  ขณะเดียวกันการไหลเวียนของการค้าก็ยังต้องใช้เวลา เพราะส่วนหนึ่งยังขึ้นอยู่กับความขัดแย้งด้านสงครามการค้าจีน-อเมริกา ซึ่งในส่วนนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้ไป แต่ในส่วนนี้จะฟื้นตัวเร็วกว่าภาคท่องเที่ยว

-สัดส่วนการพึ่งพาตลาดจีนจากการส่งออกลดลง

รศ.ดร.สมภพ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะสัดส่วนการส่งออกไปจีนจะลดลง แต่วงจรห่วงโซ่อุปทานโลกถูกกระทบไปหมด ดังนั้น12% ที่ไทยส่งออกไปจีนก็จะลดน้อยลง แต่ไทยยังมีโอกาสในการใช้ประโยชน์ในแง่ การแพทย์ เช่น การผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ (หน้ากากอนามัย  ยารักษาโรค)แทนที่จะพึ่งพาภาคท่องเที่ยวอย่างเดียว  ดังนั้นไทยต้องรีบเปิดเกมรุกว่าเราเก่งด้านการแพทย์ครบวงจร ไม่ใช่รักษาโรคเก่งเพียงอย่างเดียว   ซึ่งจากนี้ไปเราต้องรับมือกับโรคใหม่ๆที่มากขึ้น เนื่องจากประชากรโลก เกิดภาวะโรคร้อน โลกเวลานี้ได้เสียสมดุลทางธรรมชาติไปแล้ว 

“วันนี้เวลาเราออกจากบ้านเหมือนมนุษย์อวกาศไปแล้ว เพราะมลภาวะทางอากาศเป็นพิษ”

-จีดีพีจีนจะเป็นอย่างไร

สำหรับจีดีพีในระยะสั้นถ้าประเมินโดยอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของโลก ก็มองว่าไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ปี2563 จีดีพีจีนน่าจะติดลบประมาณ 1-1.5%  จากเดิมจีดีพีเติบโตต่อปี 6%  และคาดการณ์ต่อว่าทั้งปีถ้าจัดการได้โดยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น คาดว่าจีดีพีของจีนจะลดลง 0.5%  หรือจีดีพีปี 2563 ที่จีนตั้งเป้าเติบโต 6% จะลดลงมาที่ 5.5%

ปัจจุบันจีนมีบทบาทต่อการขยายตัวต่อจีดีพีโลกเกือบ 30%  หรือถ้าโลกมีจีดีพีโต3% ก็จะมาจากจีน 1%

-ย้อนมองไทย

เวลานี้ยอมรับว่าการลงทุนจากภาครัฐขับเคลื่อนช้า เนื่องจากโครงการลงทุนระยะยาวใช้งบนอกงบประมาณที่เป็นงบต่อเนื่องได้  อย่ามัวไปโทษเรื่องงบประมาณปี 2563 ที่ออกมาช้าเพียงอย่างเดียว   นับจากนี้ไปรัฐบาลจะต้องเร่งเครื่องยนต์ด้านต่างๆให้มากขึ้น จะต้องนำร่องกระตุ้นการลงทุนเชิงรุก เพื่อให้ทุนข้ามชาติลงทุนตาม  ถ้ารัฐไม่นำร่องก็ขับเคลื่อนยาก เอกชนไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งเราไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน

นับจากนี้ไป ควรให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยสามารถกระจายตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากปัจจุบันเราพึ่งพาภาคส่งออกมาก ดังนั้นเวลาที่การค้าต่างประเทศมีปัญหา เช่น ส่งออก  เราก็จะมีปัญหามาก  คำว่าต้องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยสามารถกระจายตัวได้มากขึ้น เช่น ขยายเมืองหลัก เมืองรองให้เติบโตขึ้น หรือขยายเมืองภายใต้รัศมี 100-150  กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ แล้วเชื่อว่าภาคบริการจะตามมา มีการกีฬาเชิงพาณิชย์ มีรับประทานอาหารนอกบ้าน  การออกไปเที่ยวจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้ด้วย

“มองโดยภาพรวมปี 2563 ต้องเตรียมรับเศรษฐกิจที่ฝืดตัวลง จากต้นตอของปัญหาในประเทศ เช่น ปัญหาภัยแล้ง อำนาจซื้อในประเทศลดลง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น คนมีเงินแต่ไม่ใช้เงิน เช่น ไม่ต้องการลงทุน ไม่ต้องการซื้ออสังหา ฯ ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีมาตรการเชิงรุกทำให้ประชาชนมั่นใจ และภาครัฐควรจะอาศัยช่วงนี้ถือโอกาสยกเครื่องเศรษฐกิจไทย”