UN ขึ้นบัญชี IVL "เศรษฐีอาลก" 3.5 แสนล้าน กระอัก

17 ก.พ. 2563 | 01:55 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3549 หน้า  20 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.63 โดย... พรานบุญ

 

     ป่าดงพงไพรระเนระนาดกัน เมื่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ได้ออกรายงานว่า มีองค์กรธุรกิจรวม 112 แห่ง ซึ่งล้วนแต่ชื่อก้องโลก อาทิเช่น Airbnb, Expedia, Motorola, General Mills และ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์สฯ (IVL) เกี่ยวพันกับการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นดินแดนข้อพิพาท

     เขตเวสต์แบงก์นั้น ประชาคมโลกถือว่าการตั้งและขยายถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งในนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออกเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

     หลักการดังกล่าวมาจากอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ปี 1949 ซึ่งระบุห้ามมิให้พลเมืองของประเทศที่เข้ายึดครองอำนาจ สามารถครอบครองเขตแดนนั้น ๆ ได้

     164 ชาติมักจะอ้างถึงเขตเวสต์แบงก์รวมทั้งนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออกว่าเป็น “ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง” พื้นที่ดังกล่าวจึงสุ่มเสี่ยงต่อเรื่อง “ความมั่นคง ความปลอดภัย และสันติสุขของมนุษยชาติ”

 

     UN ระบุว่าบริษัทเหล่านี้ให้การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ วัตถุดิบ สำหรับการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ ให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภค การเดินทาง ธุรกรรมทางการเงิน การธุรกิจและการบำรุงถิ่นฐานที่ตั้งอยู่ในเขต

     กลุ่มรณรงค์ควํ่าบาตรลดการลงทุน และลงโทษอิสราเอล ออกมาเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ รวมไปถึงกองทุน สถาบัน หยุดทำธุรกิจหรือลงทุนในบริษัทที่ถูก UN ขึ้นบัญชีดำ

     เมื่อปรากฏชื่อบริษัท Avgol Industries 1953 Ltd. บริษัทย่อยที่ IVL ได้เข้าซื้อไว้ และตั้งโรงงานอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ และยังมีชื่อของ Indorama Ventures P.C.L. ปรากฏหราอยู่

     ผลที่ตามมา ราคาหุ้น IVL ร่วงต่อเนื่อง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ทันทีที่เปิดซื้อขายปรับลดลงทันที 2.25 บาท หรือ 7.2% อยู่ที่ 29.00 บาท จากวันก่อน 31.25 บาท ตํ่าสุดที่ 28.50 บาท ลดลง 2.75 บาท

     วันที่ 14 กุมภาพันธ์ราคาหุ้น IVL อยู่ที่ระดับ 29.75-29.25 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 4.80% มูลค่าซื้อขาย 1,000 ล้านบาท

     พรานฯส่องลงไปพบว่า ผู้ถือหุ้นเจ้าของ IVL จนลงจากระดับราคาหุ้นทันทีหุ้นละ 3-3.50 บาท

     บริษัท อินโดรามา รีซอสเซส จำกัด ที่เป็นแม่ ถือหุ้นอยู่ 3,504,991,318 หุ้นหรือ คิดเป็น 62.43% จนลงทันที 10,000 ล้านบาทเป็นอย่างตํ่า

     นังบ่างอ้าปากค้างโพล่งออกมาว่า อาลก โลเฮีย หรือ “อนิล ปรากาซ โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVL ถือหุ้นบริษัทนี้โดยตรง 49% แต่มีสิทธิออกเสียง 76% พี่ชายคือ ศรี ปรากาซ โลเฮีย ประธานกรรมการ ถือหุ้น 51% มีสิทธิออกเสียง 24% บุตรเศรษฐีอินเดีย Mohan Lal Lohia จนลงทันตาเห็น

 

     แม้ โซวิค รอย เชาว์ดูรี่ เลขานุการบริษัท IVL แจ้งว่า บริษัท Avgol Industries 1953 Ltd. (Avgol) เป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ IVL ตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล ได้มีมติ ณ ที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ให้ย้ายโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในเขต Barkan (เวสต์แบงก์) ไปยังโรงงานอีกแห่งที่ประเทศอิสราเอล ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 แต่บาดแผลความจนเกิดขึ้นกับยักษ์ใหญ่ IVL แล้ว

     ยักษ์ตัวนี้ใหญ่ไม่ธรรมดา มีบริษัทในเครือมากถึง 62 บริษัทใน 21 ประเทศ เป็นผู้นำธุรกิจปิโตรเคมี โพลิเอทิลินเทเรฟทาเลต (ขวดPET) และธุรกิจรีไซเคิล

     1 ใน 5 ของขวด PET ทั่วโลกทำจากเม็ดพลาสติกของ IVL อะแฮ่ม 1 ใน 2 ของผ้าอ้อมทั่วโลกทำจากเส้นใยของ IVL 1 ใน 4 ของถุงลมนิรภัยทั่วโลกมาจากเส้นด้ายโพลีเอสเทอร์ของ IVL

     ปี 2559 มีรายได้ 263,445 ล้านบาท กำไร 16,197 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 291,267 ล้านบาท กำไร 20,882 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้ 347,170 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษี 30,150 ล้านบาท กำไรสุทธิ 26,337 ล้านบาท

     IVL ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 ทุนจดทะเบียนแค่ 4,800 ล้านบาท ตอนนี้ทุน 5,666 ล้านบาท มีบริษัท 62 แห่ง จากการโตต่อยอดด้วยการซื้อกิจการและซื้อกิจการ

     เชื่อหรือไม่ “อาลก โลเฮีย” กำเงินจากอินโดนีเซียมาลงทุนในซังข้าวโพด ผลิตเส้นด้ายจากขนสัตว์ ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกในไทยเพียงแค่ 30 ล้านดอลลาร์ แต่แค่ 27 ปี เขาสร้างอาณาจักรจนมีทรัพย์สินในกลุ่ม IVL ทะลุ 3.5 แสนล้านบาท...เจ๋งมั้ย

     อาลก โลเฮีย มีเพนต์เฮาส์ 5 ชั้นลอยฟ้าตระการตา เป็นที่พำนัก มีอพาร์ตเมนต์ที่เมย์แฟร์ ลอนดอน, วิลล่าที่เกาะสมุย, บ้านพักขนาดใหญ่ที่มุมไบ และนิวเดลี ตอนนี้เลือดซิบ กำลังกุมขมับ กลุ่มบริษัทกลายเป็นตำบลกระสุนตกไปทั้งโลก!

     อีเห็นบอกว่า ไปไหนเจอใครใน “อินโด-ราม” ถามหาพี่หมอ ระเฑียร ศรีมงคล ให้มากู้ชีพกันจ้าละหวั่นเชียวละเจ้าค่ะ