ปมภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (4)

16 ก.พ. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3549 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

 

     ปัญหาใหญ่ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.๒๕๖๒ “ของดี” กำลังกลายเป็นปมใหญ่ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่ดีในการกระจาย การถือครองที่ดินของประเทศ ซึ่งกว่าจะฝ่าฟันมาได้จากระบบรัฐสภาไทยต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ตอนนี้กำลังกลายเป็น “ของเสีย” ในสายตาประชาชน

     ทำไมนะหรือครับ เพราะผลการศึกษาของกรรมาธิการสรุปออกมาแล้วพบว่า การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ

     มาดูผลกระทบต่อประชาชน การประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้ก่อให้เกิดภาระภาษี แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ มีประชาชนจำนวนมากที่มีรายได้เพื่อยังชีพไม่มาก แต่มีที่ดินเป็นทรัพย์สินเพื่อให้ครอบครัวได้ใช้สอยตามฐานานุรูป ประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถในการชำระภาษีที่ดินตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

 

     เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้จัดทำข้อมูลประมาณการเปรียบเทียบภาระภาษีของประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ซึ่งขอยกตัวอย่างจำนวน ๒ ราย คือ นางบุญเยี่ยม สถานนท์ชัย ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า เดิมมีภาระภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑,๐๔๑.๐๐ บาท ของใหม่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๑๓,๔๖๒.๔๓ บาท

     นายปัญญา วิญญาสุข ประเภทที่ดินเพื่อเกษตรกรรม/ที่ว่างเปล่า/ที่จอดรถ เดิมมีภาระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑,๑๗๑ บาท ของใหม่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๑๖,๑๙๙.๖๓ บาท

     จะเห็นได้ว่าประชาชนมีภาระภาษีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และผู้แทนกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่าภาระภาษีที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเนื่องจากว่ากฎหมายภาษีบำรุงท้องที่นั้นไม่ได้มีการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ แล้ว

     อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนเกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตรามากกว่าสิบเท่าในหนึ่งปีนั้น เป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งจากภาครัฐ ภาระภาษีจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น เกิดจากการที่ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินให้เป็นปัจจุบัน หากภาครัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายคือประเมินราคาที่ดินทุกๆ รอบปีตามที่กฎหมายกำหนดให้ราคาประเมินที่ดินเป็นปัจจุบันเพื่อใช้เป็นฐานภาษีในการคำนวณ ความแตกต่างระหว่างภาระภาษีในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ กับภาระภาษีในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ของผู้เสียภาษีย่อมไม่มากดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

     หันมาดูผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการประเมินภาษีตามหลักการของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดน้อยลงอย่างมาก กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครแหลมฉบังได้ให้ข้อมูลดังนี้

     พื้นที่ กรุงเทพมหานคร  กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ เดิมมีภาระภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๒๖,๖๗๗,๔๑๐.๐๐ บาท กลับมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๓,๙๘๓,๑๐๙.๘๕ บาท

​​​​​​​     เช่นเดียวกับ บริษัท สยามจตุจักร จำกัด เดิมภาระภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๓,๕๐๑,๐๕๐.๐๐ บาท

​​​​​​​     กลับมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๔,๓๖๓,๐๙๐.๐๘ บาท​​​​​​​

 

     พื้นที่ เทศบาลนครแหลมฉบัง  (ก) ท่าเทียบเรือ ซี ๓  เดิมมีภาระภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๖๐,๖๒๕,๐๐๐.๐๐ บาท กลับต้องมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๓,๐๖๐,๗๗๐.๕๕ บาท

     ห้างฮาร์เบอร์ มอลล์ เดิมมีภาระภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๗,๓๓๗,๒๑๗.๖๓ บาท กลับมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๑,๕๐๖,๘๗๒.๐๑ บาท

     ตัวอย่างข้างต้นพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อแผนงานโครงการต่างๆ ที่ท้องถิ่นได้จัดเตรียมหรืออนุมัติไว้

     หากเป็นเช่นนี้ การแก้ไขโดยให้จัดงบประมาณแผ่นดินหรือให้คณะกรรมการกระจายอำนาจจัดสรรเงินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงจะต้องใช้ระยะเวลา และก็อาจไม่ได้รับงบประมาณเต็มตามแผนงาน หรือโครงการที่ได้จัดเตรียมหรืออนุมัติไว้ แผนงานหรือโครงการที่สร้างความเจริญให้ท้องที่คงต้องหยุดชะลอไว้ก่อน

     พอมาดูผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ถ้าพิจารณาจากข้อมูลตัวเลขตามข้อ ๒ ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการมีภาระภาษีน้อยลงอย่างมาก

     สุดท้าย มาดูการยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับบ้านหลังหลักที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาท

​​​​​​​     มาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ สรุปได้ว่าบุคคลธรรมดาที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายในวันที่ ๑ มกราคมของปีภาษี (บ้านหลังหลัก) ที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาท จะได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องเสียภาษี

​​​​​​​     ตัวอย่าง กรณีบ้านบนที่ดินขนาด ๕๐ ตารางวาในเขตสาทรหรือสีลม มีราคาประเมินที่ดินเป็นมูลค่าฐานภาษีจำนวนห้าสิบล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกันกับบ้านบนที่ดินขนาด ๓๐ ตารางวาในเขตหนองจอก ซึ่งอาจมีราคาประเมินที่ดินเป็นมูลค่าฐานภาษี ๔-๕ ล้านบาท พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้มีหลักการสำคัญ คือ จัดเก็บภาษีจากมูลค่าของที่ดิน และตัวเลขตามมาตรา ๔๑

​​​​​​​     หลักการนี้มาจากหลักคิดว่าคนจนหรือคนรวยต้องเสียภาษีทรัพย์สินในอัตราที่เท่ากัน ผู้ใดครอบครองที่ดินที่มีมูลค่าของที่ดินเท่ากัน ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน หรือผู้ใดครอบครองที่ดินที่มีราคาประเมินห้าสิบล้านบาท ก็ได้รับยกเว้นภาษีเท่ากับผู้ที่ครอบครองที่ดินที่มีราคาประเมินสี่ล้านบาท หลักคิดดังกล่าวนี้เป็นหลักคิดที่ไม่ถูกต้อง

​​​​​​​     เพราะจากข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบภาระภาษีที่เกิดแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ปรากฏผลอันสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ก่อให้เกิดภาระภาษีแก่ประชาชนรายย่อยเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันกลับส่งผลดีแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ โรงกลั่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีที่สร้างรายได้หลักให้แก่ท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี

​​​​​​​     ภาษีที่น้อยลงหลายเท่าตัวนี้ ย่อมกระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่ได้สร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีให้แก่สังคม จากการศึกษากฎหมายต่างประเทศ พบว่า ประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายที่มีหลักการ เช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่กฎหมายฝรั่งเศสนั้น ไม่ได้พิจารณาเฉพาะราคาตัวทรัพย์เท่านั้น แต่นำรายได้ของเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาประกอบการพิจารณาด้วย

​​​​​​​     กล่าวคือ หากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีรายได้ทั้งปี ไม่ถึงรายได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ก็ไม่มีภาระภาษีตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือกรณีคนชราที่ไปอยู่บ้านพักคนชราและปล่อยบ้านหรืออาคารชุดไว้ว่างเปล่า คนชราผู้นั้น ก็ไม่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

​​​​​​​     หลักการของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ ไม่ได้มีหลักการดังกล่าว พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระและก่อให้เกิดความสับสนให้แก่ประชาชนอย่างมาก

​​​​​​​     นี่คือข้อสรุปของกรรมาธิการฯ ชุดคุณปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ท่านล่ะคิดว่าอย่างไร!

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปมภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (3)
ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ