เกษตรฯดิจิทัล เข็นครกขึ้นภูเขา

14 ก.พ. 2563 | 11:30 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3549 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.63 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

     สถานการณ์บ้านเมืองรุมเร้าหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การส่งออกพังพาบจากพิษสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ลุกลามไปทั่ว ไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตหนึ่งก็ถูกกระทบไปด้วยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

     แถมเผชิญมรสุมไวรัสโคโรนา 2019 กระหน่ำซ้ำ ทำให้การท่องเที่ยวที่ยังเป็นกลไกที่คอยพยุงล้มลงอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจทัวร์และต่อเนื่องแทบยุติลงทั้งหมด ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ยอดขายลดลงอย่างฮวบฮาบ นั่งมองหน้ากันตาปริบๆ

     จะขายใคร ขายตรงไหน!

     ที่ผ่านมาในภาคการเกษตร ฐานราก ซึ่งเป็นฐานใหญ่ในการเคลื่อนเศรษฐกิจ เราถูกภาวะพิษภัยแล้งส่งผลกระทบให้ผลผลิตเสียหาย ประกอบกับราคามีปัญหาอยู่แล้ว มาจากหลากหลายปัจจัยทั้งการแข่งขัน ทั้งศักยภาพการผลิต ผลผลิตต่อไร่ ภาคเกษตรไทยในหลายสินค้าไม่อาจเปรียบเทียบได้กับคู่แข่ง เช่น ข้าวไทยผลิตได้ 750 กก.ต่อไร่ เวียดนามกลับทำได้มากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่ หรือกระทั่งพืชอื่นๆ กระบวนการผลิตขั้นต้นของไทยยังก้าวช้ากว่าคู่แข่งแทบทั้งสิ้น

 

     อันที่จริงการผลิตในภาคการเกษตรของไทยปรับตัวมาโดยตลอด แต่กระบวนการในการปรับตัวล่าช้า โดยเฉพาะในภาคการผลิตขั้นปฐม และการสนับสนุนส่งเสริมจากระบบราชการ หรือข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ

     ยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี ใครปรับตัวไม่ทัน ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ก็ตกยุค ก็ล้มหายตายจากในเวลาอันรวดเร็ว

     หมุดหมายของไทย เกษตรกรไทย ข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องวางเป้าตั้งเข็มไปสู่เกษตรกร 4.0 สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ต้องนำเทคโนโลยีมารองรับปรับใช้กับภาคการเกษตรให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

     อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังรณรงค์นำเกษตรกรไปสู่เกษตร 4.0 อย่างมุ่งมั่น

     เริ่มแล้วในโครงการบริการออนไลน์ควิกวิน จับหน่วยงานรัฐ 22 หน่วยทำงานด้านดาต้ารวบรวมข้อมูลเข้าหากัน กำลังรวบรวมแอพพลิเคชันด้านการเกษตรที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ 50 แห่งให้รวมเป็นแอพพลิเคชันเดียว ทำโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะมีฐานข้อมูลสำคัญของสินค้าเกษตร 10 สินค้าหลักเป็นอย่างน้อย ในฐานข้อมูลนี้ในอนาคตจะนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เชื่อมโยงกันและนำไปใช้ประโยชน์ ลงไปถึงข้อมูลระดับครัวเรือน การผลิต

     “ข้อมูลที่เชื่อมเข้าหากันจะบอกได้ ชี้ช่องให้ทั้งหมด ผลิตอะไร อย่างไร ใช้ปุ๋ย ใช้น้ำเท่าไร มีน้ำพอเพียงไหม สภาพดินเป็นอย่างไร ผลผลิตที่ออกมาจะแปรรูปอย่างไร ส่งไปขายตลาดไหน หีบห่อแพ็กเกจจิ้งทำอย่างไรดีไซน์ออกมาให้สวยงาม ทุกคนจะรู้ข้อมูล มีข้อมูลเท่ากันหมด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ก่อนตัดสินใจผลิตสามารถรู้ได้จะกำไรหรือขาดทุน”

 

     อลงกรณ์ ยังคิดที่จะทำโครงการศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม Agritech and Innovation Center : AIC ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด มีมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดเป็นแกนนำ มีสภาหอฯ สภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สภาเกษตร กระทรวงพาณิชย์ ดีอีเอส เข้าไปร่วม โดยให้ทำหน้าที่ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร นวัตกรรม ศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุนสตาร์ตอัพ

     “ศูนย์นี้จะขับเคลื่อน พลิกโฉมเกษตรกรไทย เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว แบบสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง เราจะมีปัญหาสู้คนอื่นเขาไม่ได้มาโดยตลอด ทั้งที่เราผลิตอาหารเป็นเบอร์ต้นๆในการเลี้ยงโลก เราจะให้ศูนย์นี้ขับเคลื่อนหลักภายในจังหวัดของเขา ซึ่งมันจะครบทั้งการผลิต การตลาด การแชริ่งใช้ของบางอย่าง เทคโนโลยีบางอย่าง เพื่อลดต้นทุนผลิตร่วมกันลงให้ได้ แต่ศูนย์จะสำเร็จได้ ต้องให้ทุกคนทุกส่วนและภายในจังหวัดลงแรงอย่างแข็งขัน เจ้าหน้าที่ราชการโดยเฉพาะของกระทรวงเกษตรฯต้องรู้เท่าทัน แนะนำปรับใช้ต่อฐานให้เกษตรกรได้” อลงกรณ์ ตั้งความหวัง

     โรดแมปนำเกษตรกรไทยปลดแอกความยากจน เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก เชื่อมโลกเทคโนโลยี เป็นความจำเป็นที่มิอาจปฏิเสธ

     แต่ต้องยอมรับการเคลื่อนสู่เป้าหมายนี้ จำต้องใช้พลังอย่างแข็งขันในทุกภาคส่วน ที่ต้องยื่นออกมาโอบกอดช่วยเหลือกันเดินไปด้วยกัน

     ระดับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ขยับแล้ว ระดับปฏิบัติจะเดินตามทันหรือไม่ กระทั่งระดับปฏิบัติในภาคส่วนอื่นจะขยับสอดรับให้ขับเคลื่อนได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม

     คำถามไม่ใช่คิดไม่ได้ ไม่ใช่ไม่รู้ ไม่ใช่ไม่มีองค์ความรู้ แต่การลงมือปฏิบัติการนี้ให้เป็นไปตามโรดแมปยากเย็นเสียเหลือเกิน

     ต้องเอาใจช่วยกระทรวงเกษตรฯ

     เพราะภารกิจนี้ยากเย็นเสียเหลือเกิน

     ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา !!