ช่องทางเยียวยา เหยื่อกราดยิงที่โคราช

15 ก.พ. 2563 | 03:00 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563

 

จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่จังหวัดนครราชสีมา ที่มีการกราดยิงและทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากพี่น้องประชาชนคนไทยจะเสียใจกับ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เขียนเองก็ต้องการให้ข้อมูลทางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์กับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อที่จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทุกท่านที่ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

ตั้งแต่ปี 2544 มีการ กระทำผิดหลายประเภทที่ผู้เสียหายที่ได้รับผลจากการกระทำผิดนั้นๆ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งได้มีกำหนดเรื่องเหล่านี้ไว้ในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา .. 2554 ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2559

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าการกระทำผิดต่อชีวิต และความผิดต่อร่างกาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของความผิดที่ระบุอยู่ในรายการท้ายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนฯ ฉบับนี้ นั่นหมายความว่า การกราดยิงที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ถือเป็นการกระทำผิดที่สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17

ซึ่งในส่วนนี้มีการแบ่งการจ่ายค่าตอบแทนเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ปี 2546 ที่มิได้มีการยกเลิกไปจากการประกาศกฎกระทรวงฉบับใหม่ในปี 2559 ใน 2 อนุมาตราแรก ทำให้ญาติผู้ตายมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เป็นเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าจัดการศพอีกจำนวน 20,000 บาท

 

ช่องทางเยียวยา  เหยื่อกราดยิงที่โคราช


 

 

ส่วนค่าตอบแทนส่วนที่เหลือได้มีการปรับแก้ใหม่ในกฎกระทรวง ปี 2559โดยญาติผู้เสียชีวิตมีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูจํานวนไม่เกิน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ไม่เกิน 40,000 บาท นั่นหมายความว่าอัตราสูงสุดใน กรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ญาติมีสิทธิรับค่าตอบแทนไม่เกิน 200,000 บาท ตามพระราชบัญญัติประกอบกฎกระทรวงตามที่กล่าวมาข้างต้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า เมื่อเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำผิดตามที่ระบุไว้ในรายการท้าย ... ฉบับนี้แล้ว คณะกรรมการฯ จะต้องจ่ายเงินให้ทุกรายรายละ 200,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้มีค่าตอบแทนบางประเภทกำหนดให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯ อย่างในกรณีนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ออกมาแถลงว่าจะจ่ายค่าตอบแทนกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย รายละ 50,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท และค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูอีก 40,000 บาท รวมจ่ายให้รายละ 110,000 บาท ซึ่งก็เกินกว่าเกณฑ์ขั้นตํ่าตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

2. กรณีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนทั้งหมด 4 ประเภทเช่นกัน ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายที่จําเป็นในการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท 2. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทาง ร่างกายและจิตใจตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

 

 

และสุดท้าย ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นนอกจาก 3 อย่างแรก ให้จ่ายเป็นเงินตามจํานวนที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งหากจะลองคำนวณจากผู้บาดเจ็บที่เป็นคนที่ทำงานในโคราช ซึ่งได้รับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าวันละ 325 บาท (ปีละ 118,625 บาท) ผู้เสียหายรายนั้นจะได้รับเงินค่าตอบแทนทุกอย่างรวมกันสูงสุดอยู่ที่ 228,625 บาท ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ต่างจากเหตุผลข้างต้น ที่การกำหนดจำนวนเงินจ่ายค่าตอบแทนในบางส่วนเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯ

ทั้งนี้ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการฯ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการ กระทำความผิด

นั่นหมายความว่า นับจากที่มีเหตุกราดยิงกันการร้อง ขอรับค่าตอบแทนต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นต้องทำภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี แม้ว่าค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผู้เสียหาย หรือญาติผู้เสียหายได้รับ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่กฎหมายไทยออกแบบมาเพื่อเยียวยาความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องและสูญเสียในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ