ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

14 ก.พ. 2563 | 07:36 น.

รายงานพิเศษ : ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

 

“พรรคกล้า”  เป็นชื่อพรรคการเมืองน้องใหม่ล่าสุด ที่ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง กับนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นำทัพโดย นายกรณ์ จาติกวณิช นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เด็กเก่าพรรคประชาธิปัตย์ 

ก็เป็นการเฉลยก่อนหน้านี้ที่นายกรณ์ เปิดเผยเพียงว่าพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่มี “พยางค์เดียว” พร้อมกับ “ขอขอบคุณอีกครั้งที่ #ช่วยกรณ์ตั้งชื่อพรรค นะครับ ชื่อที่เราจะนำมาเป็นชื่อพรรค มีผู้ชนะ 12 จาก 120,000 ชื่อ”

ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบรายชื่อพรรคการเมืองผ่านจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำให้ทราบว่า “พรรคกล้า” กำลังจะเป็นพรรคการเมือง “พยางค์เดียว” เป็นพรรคที่ 4 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ได้รับการการจดจัดเบียนจัดตั้งตามกฎหมาย 

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2517 “พรรคไท” เป็นพรรคการเมืองพยางค์เดียวพรรคแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 โดยมี “นายแผ่พืชน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมี “นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นเลขาธิการพรรค ภายใต้คำขวัญของพรรคว่า "สร้างไทย ให้เป็นไท"

ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

พรรคไท เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 จำนวน 4 คน ได้แก่ อนันต์ ภักดิ์ประไพ (พิษณุโลก) ธวัชชัย นามพรหมวงศ์ (เชียงใหม่) ปกรณ์ กุลกำจร (บุรีรัมย์) และประภัทรพงศ์ เวชชาชีวะ (จันทบุรี)

เคยเข้าร่วมกับรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 36 โดยในครั้งนั้น อนันต์ ภักดิ์ประไพ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 จึงมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยนายอนันต์ พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งนายประภัทรพงศ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายประภัทรพงศ์ เป็นบิดาของนายพงศ์เวช เวชชาชีวะ อดีตส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

ต่อมา “พรรคไท” ซึ่งไม่ได้รับการฟื้นฟู ก็ถูกปัดฝุ่นชื่อพรรคกลับมาอีกครั้ง จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2539 แต่ก็ถูกยุบพรรคเมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยมี นายธนบดินทร์ แสงสถาพร เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายสุชาติ ตันเจริญ เป็น ส.ส.คนเดียวของพรรค ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ซึ่งปัจจุบันสุชาติเป็นส.ส.พรรคพลังประชารัฐและเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนเหตุผลในการยุบพรรคไทครั้งนั้น จาก 3 คำร้อง จากการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 

ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

ส่วนพรรคพยางค์ที่สามคือ “พรรคกรีน”  มีนายพงศา ชูแนม    ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก จัดตั้งพรรคเมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มีผู้ก่อตั้ง  574 คน ปัจจุบัน ยังดำเนินการอยู่ 

ย้อนตำนานการเมือง เปิดชื่อพรรค "พยางค์เดียว"

ซึ่งเป็นการนำชื่อพรรคกรีน หรือ พรรคเขียวมาจากอีกหลายประเทศ ที่ก่อตั้งครั้งแรกที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี คศ. 1972 มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาประเทศ  โดยการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยพื้นฐาน พรรคกรีนเติบโตในยุโรปจำนวนมากมีเป้าหมายเพื่อให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการเอาใจใส่ ปัจจุบันมีพรรคกรีน 63 ประเทศ พรรคกรีนไทยเป็นพรรคกรีนอันดับ 64 ของโลก

นอกจากนี้ยังมีอีกพรรคคือ “พรรคเกรียน” ที่มีนายสมศักดิ์ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกับกกต. ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่กกต.ไม่รับจดทะเบียน จึงทำให้บก.ลายจุดยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อมามีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยศาลฯ เห็นว่า คำว่า "เกรียน" ตามพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า "เกรียน" ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับธรรมเนียมประเพณีของไทย

การตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า "พรรคเกรียน" จึงอาจทำให้สังคมเกิดความสับสนในความหมาย และจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ กรณีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 18 ประกอบกับ มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ดังนั้น การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่รับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อ พรรคเกรียน ตามคำขอของนายสมบัติฯผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว