ถอดรหัสศก.ไทย ผ่านจดหมายเปิดผนึก ผู้ว่าธปท.ถึง รมว.คลัง

15 ก.พ. 2563 | 04:50 น.

มรสุมหลายลูกที่โหมพัดกระหนํ่าเศรษฐกิจไทยแบบไม่ทันตั้งตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายสำนักเริ่มทยอยปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2563 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวระดับ 3% ลดลงมาเหลือตํ่ากว่า 2.5%

 

ถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนกำลังตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปเป็นอย่างไร

ในประเด็นนี้หากดูจากจดหมายเปิดผนึก ที่ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา(ช่วงนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) เพื่อชี้แจงความเคลื่อนไหวอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าตํ่ากว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน พบว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีความเสี่ยงในหลายด้าน

แม้จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จะไม่ได้พูดถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอย่างชัดเจน แต่ถ้าดูจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า บริการและค่าครองชีพของประชาชนในภาพรวมเมื่อปี 2562 ตํ่ากว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 1-3% ก็พอจะมองเห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ มีประเด็นหนึ่งที่เขียนไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทําให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าต่อเนื่อง มาจาก 1.พัฒนาการ ทางเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้มากขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ตํ่าลง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนํ้ามันและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทําให้ราคาสินค้าเหล่านี้ปรับลดลงจากในอดีต

2.การขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ทําให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการตํ่าลง รวมถึงเกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ทําให้อํานาจในการตั้งราคาสินค้าของผู้ประกอบการลดลง

และ 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการในภาพรวมปรับลดลงเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีรายได้หลังเกษียณลดลง ขณะที่ประชากรวัยทํางานจะมีแนวโน้มออมเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉลี่ยปรับลดลง

 

ถอดรหัสศก.ไทย  ผ่านจดหมายเปิดผนึก  ผู้ว่าธปท.ถึง รมว.คลัง

 

ปัจจัยเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงไทยมีแนวโน้มตํ่าลงจากในอดีตด้วย

ในระยะข้างหน้า กนง. ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 อยู่ที่ 0.8% ซึ่งตํ่ากว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน คาดว่าเป็นผลจากแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับตํ่า เนื่องจากราคาพลังงานโลกยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแนวโน้มผันผวนสูงจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่วนราคาอาหารสดแม้ว่าจะชะลอลงบ้างจากผลของฐานสูงในปี 2562 แต่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน

ในจดหมายเปิดผนึกระบุถึงระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายว่าแม้ว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ตํ่ากว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

 

 

แปลให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ คือ กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ต้องรอไปถึงกลางปี 2564

ปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่คาด และตํ่ากว่าระดับศักยภาพ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก การส่งออกที่หดตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศชะลอลง

อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงในภาคการเงินบางจุดที่ต้องติดตามต่อเนื่อง อาทิ ความสามารถในการชําระหนี้ และพฤติกรรม แสวงหาผลตอบแทนที่อาจนําไปสู่การประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าที่ควร ขณะที่ค่าเงินบาท รวมไปถึงความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับตํ่าเป็นเวลานาน อาจทําให้เกิดการสะสมความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต

ข้อความระหว่างบรรทัดใน จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ คือคำตอบของคำถาม ที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี

จดหมายเปิดผนึกฉบับเต็ม

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563