ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

13 ก.พ. 2563 | 11:35 น.

รายงานพิเศษ : ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

 


ผู้คนในสังคมบางส่วน อาจจะกำลังผวากับข่าว “เรือสำราญ” ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวในลำที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาบนเรือ ที่ชื่อเรือสำราญ Diamond Princess ที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น มีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 3,700 คน ทางการญี่ปุ่นยืนยันพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสขณะนี้รวมกว่า 200 ราย และยังคงอยู่ระหว่างถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน 

ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

เรือสำราญ Diamond Princess

 

เมื่อมีข่าวเรือสำราญอีกลำที่ว่าชื่อ “เวสเตอร์ดัม” ซึ่งต้นทางมาจากฮ่องกง ขอเทียบท่าฉุกเฉินที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี หลังถูกปฏิเสธเทียบท่าฉุกเฉินมาแล้ว 3 ประเทศ คือไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ก็ทำให้สังคมไทยแตกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งมองว่าน่าจะช่วยเหลือให้เข้ามาเทียบท่า กับอีกฝั่งไม่มั่นใจว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาบนเรือหรือไม่ ซึ่งก็ถูกตัดสินใจโดยรัฐบาลไปแล้วว่าไม่อนุญาตให้เข้ามาเทียบท่าได้ตามที่ร้องขอ แต่หากต้องการ ยา อาหาร น้ำมัน ก็จะช่วยได้ตามหลักมนุษยธรรม

และในที่สุดข่าวก็ไปโผล่ที่กัมพูชาว่า “พบผู้ต้องสงสัยติดไวรัสโคโรนา” ประมาณ 20 คน บนเรือเวสเตอร์ดัม หลังจากรัฐบาลกัมพูชาไฟเขียวให้เทียบท่าได้

ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

เรือเวสเตอร์ดัม ที่ลอยลำอยู่ใกล้ฝั่งกัมพูชา

 

กระทั่งมีข่าวว่าเช้าวันที่ 13 ก.พ. มีเรือสำราญที่ชื่อว่า Seabourn Ovation และเรือ Quantum of the Seas  จะเข้ามาเทียบท่าภูเก็ต ก็ทำเอาสังคมแตกเป็นสองฝั่งอีกครากับโรคผวาเรือสำราญ 

ทำเอารัฐบาลต้องออกมาอธิบาย “ความต่าง” การเข้ามาเทียบท่าระหว่างเรือที่เวสเตอร์ดัม กับ เรือสำราญ 2 ลำที่ภูเก็ต  “น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” บอกว่า จากกรณีที่เรือ Seabourn Ovation จะเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ตนั้น เป็นเรือที่มีเส้นทางการเดินเรือปกติที่กำหนดผ่านจังหวัดภูเก็ต โดยมีกำหนดแวะพักประมาณ 10 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งมีผู้โดยสารและลูกเรือเป็นชาวยุโรป ที่ผ่านมาเรือลำนี้ได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่า ที่ฮ่องกง เวียดนาม แหลมฉบัง เกาะกูด กัวลาลัมเปอร์ ลังกาวี ขณะที่แพทย์ประจำเรือได้แจ้งมาว่า ไม่มีผู้ป่วยใดเข้าเกณฑ์ตามนิยาม รวมถึงสามารถติดตามผู้โดยสารและลูกเรือทุกราย เนื่องจากเป็นเพียงจุดแวะพัก 10 ชั่วโมงเท่านั้น

ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

“ประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการห้ามการเดินทางหรือห้ามชาติใดชาติหนึ่งเข้าประเทศ อีกทั้งไทยยังมีมาตรการควบคุมโรค ซึ่งคำนึงถึงความมั่นใจและปลอดภัยของคนไทยเป็นลำดับแรก ทั้งทางบก เรือ และอากาศ แต่เรือลำนี้จะต่างจากการขอเทียบท่าของเรือเวสเตอร์ดาม เพราะเรือเวสเตอร์ดัม เป็นการขอจอดเรือฉุกเฉินนอกเหนือเส้นทางเดินเรือ และได้ถูกปฏิเสธการเทียบท่าจาก ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังเป็นการจอดเทียบท่าเพื่อกระจายผู้โดยสารออกเส้นทางอื่น เช่นโดยสารทางเครื่องบินกลับประเทศ”

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบและทำการเปรียบข้อมูลเรือของเวสเตอร์ดัมกับ เรือ Seabourn Ovation พบว่า

เรือ Sea bourn Ovation ขอเทียบท่าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการเดินทางออกจากต้นทางประเทศฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 63 ผู้โดยสารและลูกเรือเป็นชาวยุโรป โดยใช้เส้นทางเดินเรือปกติ ที่กำหนดผ่านจังหวัดภูเก็ต มีกำหนดการแวะพักประมาณ 10 ชั่วโมง  และสามามารถติดต่อผู้โดยสารและลูกเรือได้ทุกราย เนื่องจากภูเก็ตเป็นเพียงจุดแวะพัก 10 ชั่วโมงเท่านั้น

ที่ผ่านมาเรือได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่า ที่ฮ่องกง เวียดนาม แหลมฉบัง เกาะกูด กัวลาลัมเปอร์และลังกาวี  ซึ่งแพทย์ประจำเรือเป็นผู้แจ้งว่า ไม่มีผู้ป่วยตามนิยาม หรือ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องสงสัยติดไวรัสโคโรนา

ซึ่งต่างจากเรือ Westerdam ซึ่งเรือเดินทางจากต้นทางคือประเทศฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 63 เช่นเดียวกัน แต่ที่ขอเทียบท่าแหลมฉบังเพื่อขอจอดฉุกเฉิน ที่ผ่านมาถูกปฏิเสธเทียบท่าจาก 3 ท่าคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์  และการขอจอดแหลมฉบังเป็นการขอจอดนอกเส้นทางเดินเรือ โดยมีผู้โดยสารเป็นชาวจีนและฮ่องกง 21 คน ขอจอดเทียบท่าเพื่อกระจายผู้โดยสารออกไปยังเส้นทางอื่นๆ เช่น โดยสารเครื่องบินกลับประเทศ

ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

“อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม” บอกว่า ทางเรือ Sea bourn Ovation ได้มีการส่งรายงานสุขลักษณะของผู้โดยสาร และลูกเรือผ่านแบบฟอร์ม ท 1,2 และ3 พร้อมให้แพทย์ประจำเรือตอบแบบสอบถามในเรื่องโคโรนาไวรัสส่งให้แพทย์ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตรับทราบไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนที่เรือจะมาถึง พร้อมระดมเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขประจำที่ท่าเรือเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิของผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนก่อนออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่อไป

ไขปม “การต้อนรับ” ที่ต่างกัน กับเรือสำราญ 2 ลำ

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม

“ยืนยันว่า เรือดังกล่าวไม่ใช่เรือที่มีผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการตรวจผู้โดยสารตามมาตรฐานขั้นตอน และจากประวัติการเดินเรือของ Seabourn Ovation ที่ผ่านมาได้รับการอนุญาตให้จอดเทียบท่าเรือทั้งในฮ่องกง เวียดนาม แหลมฉบัง เกาะกูด กัวลาลัมเปอร์ ลังกาวี มาโดยตลอด รวมทั้งเส้นทางการเดินเรือเป็นเส้นทางปกติที่ได้กำหนดเส้นทางผ่านจังหวัดภูเก็ต โดยมีกำหนดแวะพัก 10 ชั่วโมง... 

ซึ่งจะไม่เหมือนเรือเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม ที่ถูกปฎิเสธการเข้าจอดเทียบท่าเรือในทุกเส้นทางการเดินเรือ ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์”