เปิดเกณฑ์เยียวยา “เหยื่อ” กราดยิงโคราช

12 ก.พ. 2563 | 09:40 น.

รายงานพิเศษ : เปิดเกณฑ์เยียวยา “เหยื่อ” กราดยิงโคราช

รัฐบาลโดย “นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เปิดเผยว่า เตรียมนำเกณฑ์การเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากเหตุระเบิดองค์ท้าวมหาพรหม ย่านราชประสงค์ เมื่อ 17 สิงหาคม 2558 มาเป็น “เกณฑ์ตั้งต้น” ในการเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากโศกนาฏกรรมกราดยิงที่ จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 8-9 ก.พ. 2563 

ซึ่งร่างเกณฑ์ดังกล่าวจะถูกนำเสนอในการคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 63 ให้แต่งตั้ง ซึ่งมีรายงานระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมลงนามแต่งตั้ง "คณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา" โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นรองประธาน โดยมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและฝ่ายเลขา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ

ซึ่งคาดว่านายวิษณุจะเรียกประชุมทันทีภายหลังจากมีคำสั่งแต่งตั้ง เพื่อรีบจัดประชุมเพื่อนำเสนอเกณฑ์เยียวยาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ทันในวันอังคารที่ 18 ก.พ. 63 

เปิดเกณฑ์เยียวยา “เหยื่อ” กราดยิงโคราช

เหตุระเบิดที่องค์ท้าวมหาพรหม ย่านราชประสงค์ เมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

“ฐานเศรษฐกิจ”  ตรวจสอบข้อมูลการเยียวยาตามที่นายเทวัญให้สัมภาษณ์พบว่า ครม.มีมติวันที่ 25 สิงหาคม 2558 มีมติเห็นชอบเกณฑ์เยียวยาผู้เสียหายจากเหตุระเบิดย่านราชประสงค์ และมีมติอีกครั้งวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ในการนำเกณฑ์เดียวกันไปเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุระเบิดและไฟไหม้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ เมื่อ 11-12 สิงหาคม 2559 ที่มีผู้เสียชีวิตรวม 20 ราย เป็นคนไทย 6 ราย ชาวต่างชาติ 14 ราย บาดเจ็บ 131 ราย เป็นคนไทย 61 ราย และชาวต่างชาติ 70 ราย

ซึ่งหน่วยงานราชการและกองทุนฯ ได้ให้ความเสียช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังนี้


กรณีเสียชีวิต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ใช้เงินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รายละ 25,000 บาท  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ใช้เงินตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รายละ 150,000 บาท  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้เงินตามระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2547 รายละ 10,000 บาท 

กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2542 จ่ายเฉพาะที่เป็นคนไทย รายละ 1 ล้านบาท 
ส่วนชาวต่างชาติ จะใช้เงินจากกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามระเบียบคณะกรรมการ บริหารกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. 2558 ที่จ่ายเฉพาะการเสียชีวิตของชาวต่างชาติ รายละ 1 ล้านบาท

เปิดเกณฑ์เยียวยา “เหยื่อ” กราดยิงโคราช

ชาวจังหวัดนครราชสีมาวางดอกไม้ไว้อาลัยหน้าเทอมินอล21 

ส่วนกรณีบาดเจ็บ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ใช้เงินตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ชดเชยตามอาการบาดเจ็บ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ ไม่เกิน 200 บาทต่อวัน ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น หากเป็นผู้ป่วยขั้นวิกฤติ หรือ ICU 30,000 บาท ผู้ป่วยใน 20,000 บาท ผู้ป่วยนอก 10,000 บาท

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้เงินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ตามระดับความเจ็บ บาดเจ็บถึงขั้นพิการ 10,000 บาท บาดเจ็บรักษาในสถานพยาบาล 3 วันขึ้นไป 3,000 บาท ค่าปลอบขวัญ ไม่เกิน 2,000 บาท

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้เงินตามระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2547 ชดเชย 2,000 บาท และกระทรวงสาธารณสุข ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด

แต่ถ้าผู้บาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้เงินตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติฯ พ.ศ. 2558 ตามระดับความบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 5 แสนบาท ความเสียหายจากการหยุดชะงักของการเดินทาง ไม่เกิน 2,000 บาทต่อวัน และการฟื้นฟูสภาพจิตใจไม่เกิน 20,000 บาท 

เปิดเกณฑ์เยียวยา “เหยื่อ” กราดยิงโคราช

อย่างไรก็ตามในครั้งการเยียวยาเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยา ว่าควรพิจารณาเทียบเคียงกับวงเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดเชย

 

ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวคณะกรรมการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งต้องติดตามว่าการเยียวยาจะออกมาอย่างไร