10 ทางรอดท่องเที่ยว รับมือพิษ“อู่ฮั่น”

12 ก.พ. 2563 | 03:46 น.

คอลัมภ์ : ตื้น-ลึก-หนา-บาง

โดย     : เรดไลออน

ไวรัสอู่ฮั่นเขย่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและซัพพลายเชนทั่วโลก ส่วนประเทศไทยโดนเข้าไปเต็มเปาตลาดทัวร์จีน 10 ล้านคนที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยปีที่แล้วหายวับทันที ที่หลงเหลืออยู่บ้างเป็นพวก “เอฟไอที” หรือเดินทางมาท่องเที่ยวเองแบบอิสระ มีผลทันตาเห็นหลังวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยวิ่งวุ่นประชุมถี่ยิบ เพื่อหาทางรับมือแต่ดูเหมือนหนทางยังมืดมน หลายเวทีมีความเห็นตรงกันว่า ช่วงนี้ยังทำอะไรมากไม่ได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง การใช้กลยุทธ์ ลดราคา-อัดโปรโมชันก็น่าจะสูญเปล่า เพราะคน “ไม่มีอารมณ์” เดินทาง 

10 ทางรอดท่องเที่ยว รับมือพิษ“อู่ฮั่น”

สิ่งที่ทำได้คือเสนอมาตรการให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยาเป็นการด่วนไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดด้านวงเงินสินเชื่อพยุงธุรกิจที่กระทบไปทั่วทุกหัวระแหงตั้งแต่ สายการบินไปจนถึงหมอนวดชายหาด คนขับเรือหางยาว ไกด์-รถบัส ระบบขนส่งตกงานทันทีและธุรกิจ เอสเอ็มอี กระทบหนักสุด

 

ดังนั้นมาตรการที่เอกชนต้องการให้รัฐเข้ามาเยียวยา ตั้งแต่ขอวงเงินสินเชื่อ ยกเว้นดอกเบี้ย ชะลอการส่งคืนเงินต้น การผ่อนปรนเรื่องมาตรการภาษี  อัดฉีดให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดประชุม เดินทางในประเทศ ฯลฯ สารพัดวิธีเพื่อหาทางรอด
 
เพราะผลกระทบครั้งนี้รุนแรงและเร็วมาก  ประเมินเบื้องต้นเดือนมกราคม-เมษายน คาดนักท่องเที่ยวหายไป 2.4 ล้านคน คาดสูญเสียรายได้ 3 แสนล้านบาท ฉะนั้นหากรัฐบาลยังนิ่งเฉย คนทำงานในแวดวงนี้ร่วม 4 ล้านคน คงอลเวง บริษัทกว่า  6 หมื่นรายมีสิทธิ์ล้มครืนเป็น “โดมิโน” 

10 ทางรอดท่องเที่ยว รับมือพิษ“อู่ฮั่น”  
แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส แต่จะตั้งการ์ดรับมืออย่างไร?  ประมวลจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าที่ต้องทำคือเรียก “ความเชื่อมั่น” เริ่มจากคนในวงการท่องเที่ยวก่อน ถึงจะไปกวักมือเรียกคนอื่นให้เดินทางท่องเที่ยวและเริ่มจากในประเทศ เที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับหรือเที่ยวใกล้ ๆ ได้หมด

ส่วนช่วงนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ถือโอกาส “เวเคชัน” พักผ่อนกันไปก่อน เพราะทั้งอินบาวด์-เอาต์บาวด์ กระทบยาว ส่วนธุรกิจโรงแรม - ท่องเที่ยว ช่วงนี้เขารับมือกันอย่างไรมาดูกัน
1. อันดับแรกคือประหยัด ลดค่าใช้จ่ายทันที หลายโรงแรมงัดมาตรการนี้มาใช้ทันที ยกเลิกการเดินทางบิสิเนสทริปลดปริมาณการสั่งของวัตถุดิบ อาหาร และอื่น ๆ 
2. ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
เลิกจ้างพนักงานนอกเวลา ไม่รับคนเพิ่ม บางโรงแรมนำพนักงานออฟฟิศมาช่วยเสริมบริการ เก็บจาน จัดโต๊ะ ลดค่าใช้จ่ายให้อยู่รอดในช่วงที่รายได้หดหาย 
3. ลดวันทำงาน บีบให้ใช้วันลาพักร้อน หากไม่มีดีขึ้นบังคับให้ลาโดยไม่รับเงินเดือน แต่ยังไม่ถึงขั้นลดพนักงาน 
4.  ปิดบางฟลอร์สำหรับโรงแรมที่มีห้องพักมากๆ  หรือถ้าเป็นโรงแรมขนาดเล็กหรือรีสอร์ตปิดกิจการชั่วคราว 
 

5. เทรนนิ่ง จัดโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานเพื่อยกระดับการบริการรอ  โอกาสธุรกิจฟื้น รวมถึงถือโอกาสปรับปรุงองค์กร ตกแต่งออฟฟิศ    จัดระบบการทำงานใหม่ ฯลฯ
6. มองหาตลาดใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน ตลาดนักท่องเทียวจีน เช่น อาเซียน ซีแอลเอ็มวี หรือตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ

10 ทางรอดท่องเที่ยว รับมือพิษ“อู่ฮั่น”

7. สร้างความเชื่อมั่นให้คนเดินทาง เริ่มจากคนในแวดวงการท่องเที่ยวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อนที่จะชักชวนคนอื่นเดินทางท่องเที่ยว   
8. ถือโอกาสพักผ่อน พักสมองผ่อนคลาย หลังทำงานหนักมาทั้งปี 
9. สนับสนุนให้คนไทยเที่ยวในประเทศ   เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนและช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้ เพราะไม่มีอะไรดีและทำได้เร็วเท่ากับการส่งเสริมให้คนไทยช่วยกันเที่ยวในประเทศ 
10.วางแผนรับมือรอวันที่ตลาดนักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
 

  เมื่อสถานการณ์ยังไม่นิ่งอย่างน้อย 10 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้ไม่มากก็น้อยดีกว่านั่งรอมาตรการเยี่ยวยาจากรัฐบาลซึ่งไม่รู้เมื่อไรจะคลอด  !!