ต้องไม่จบ แค่โหวตงบใหม่

11 ก.พ. 2563 | 11:30 น.

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3548 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ.63 โดย... เอราวัณ

 

 

 

     นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ไม่เป็นโมฆะ ด้วยเสียงเอกฉันท์ แต่มีมติ 5:4 ให้โหวตใหม่ ในวาระ 2-3 ก่อนส่งให้วุฒิสภาโหวตใหม่อีกครั้ง ทั้งหมดต้องทำภายใน 30 วันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ต้องขีดเส้นใต้ คำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ให้โหวตใหม่ ไม่ใช่ให้พิจารณาใหม่แต่อย่างใด

     ฉะนั้น บรรดานักพูดในสภาอย่าฉวยโอกาส “พ่นนํ้าลาย” ในสภา พูดจาให้เสียเวลาใช้งบประมาณแผ่นดินอีกต่อไป เพียงเพราะอยากแสดงตัวตน เพราะงบประมาณแผ่นดินล่าช้ามามากแล้ว ยิ่งฉวยโอกาส “พ่นนํ้าลาย” เสียเวลาแผ่นดินมากเท่าไหร่ก็เท่ากับถ่วงเวลา ซํ้าเติมเศรษฐกิจชาติเท่านั้น

     ต้นตอที่ทำให้ชาติเกิดวิกฤติเรื่องงบประมาณ คือการเสียบบัตรแทนกัน ที่นักการเมืองผู้ทรยศ ต่ออำนาจประชาชน เอาอำนาจของปวงชนไปมอบสิทธิให้คนอื่นกดบัตรและลงคะแนนแทนตัวเอง ซึ่งศาลรธน.ฟันธงแล้วว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สุจริตต่อหน้าที่ และ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ยอมรับต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า ไม่อยู่ในที่ประชุม ในการลงคะแนน วัน-เวลา ที่ปรากฏ จนทำให้งบประมาณแผ่นดินมีปัญหาแน่นอน

 

     การกระทำที่ผิดต่อหน้าที่ของ ส.ส.ภูมิใจไทยผู้นี้ มีบทลงโทษตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีกต่อไป เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันกับทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. ที่ป.ป.ช.คงไม่ลงโทษแค่ “ตักเตือน” เหมือนที่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงโทษ “ตักเตือน” ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ไป เพราะการทำให้ชาติเสียหายขนาดนี้ การตักเตือนเป็นโทษที่ “หน่อมแน้ม” ไปหน่อย

     พรรคการเมืองควรมีมาตรการลงโทษมากกว่านี้ เพราะหลักประชาธิปไตยในระบบพรรคการเมืองคือ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” เมื่อคนที่พรรคเลือกมา กระทำผิด พรรคก็ต้องมีความรับผิดชอบในการลงโทษคนที่พรรคเลือกมา หากพรรคการเมืองใดหาความรับผิดชอบในกรณีแบบนี้ไม่ได้ ประชาชนก็มีหน้าที่ “จำ” และอย่าไปเลือกพรรคนั้นอีกในครั้งต่อไป

     ที่บอกว่าต้องไม่จบแค่นี้ คือการที่ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่ปรากฏชื่อลงคะแนนได้ นั่นหมายความว่า ต้องมีส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมสภา เสียบบัตรของนายฉลอง และลงคะแนนแทน โดยมากส.ส.ที่แอบฝากบัตรให้เพื่อนส.ส.ลงคะแนน จะไม่ฝากส.ส.ต่างพรรค ต้องฝากส.ส.พรรคเดียวกัน เพราะไว้ใจได้ว่า จะไม่เปิดเผย “ความลับอันไม่สุจริต” ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยต้นสังกัดของ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธาน ต้องเค้นสอบจากฉลอง และพยานแวดล้อมให้ได้ว่าใครเป็นผู้เอาบัตรของฉลอง เทอดวีระพงศ์  ไปลงคะแนน และส.ส.ผู้นั้นต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน

     ทั้งสภาและพรรคภูมิใจไทย จะ “ดำนํ้า” นิ่งเฉย คิดจบเรื่องนี้อย่างเงียบๆ ไม่ได้..