ทางเลือกระบบ อัตราแลกเปลี่ยน (1)

12 ก.พ. 2563 | 07:35 น.

 

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,548 วันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2563

 

หากย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในอดีต จะพบว่า ในปี 1913 เกือบ 70% ของประเทศในโลกใช้มาตรฐานทองคำ ซึ่งกำหนดให้มูลค่าของค่าเงินของประเทศหนึ่งผูกไว้กับปริมาณทองคำ ในขณะที่อีก 20% ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว และอีกประมาณ 10% ใช้มาตรฐานโลหะ ในเวลาต่อมา มาตรฐานทองคำเริ่มเสื่อมลงในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1944 เคนส์ (Keynes) และผู้กำหนดนโยบายได้ออกแบบระบบการเงินระหว่างประเทศ และระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ ซึ่งคือระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (fixed exchange rate) โดยค่าเงินของหลายประเทศผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่าระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton woods system)

แต่ในปี 1973 เกิดวิกฤตการณ์อัตราแลกเปลี่ยนนำไปสู่การยุติของระบบเบรตตันวูดส์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความหลากหลาย หลายประเทศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (flexible or floating exchange rate) บางประเทศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ในขณะที่บางประเทศเปลี่ยนไปมาระหว่าง 2 ระบบดังกล่าว

 

ทางเลือกระบบ อัตราแลกเปลี่ยน (1)

 

คำถามที่น่าสนใจคือทำไมบางประเทศเลือกที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในขณะที่บางประเทศใช้แบบลอยตัว และทำไมบางประเทศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่ง คือระบบใด คำถามเหล่านี้เป็นคำถามซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนและยังคงเป็นที่ถกเถียงในเศรษฐศาสตร์มหภาคระหว่างประเทศ วิธีที่ ง่ายที่สุดในการที่จะเริ่มกระบวน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกระหว่างระบบอัตราแลกเปลี่ยน ก็คือการพิจารณาจากประเทศ ซึ่งเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนและศึกษาถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษได้เปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นแบบลอยตัวในเดือนกันยายนปี 1992 ขณะที่ยุโรปเริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในปี 1979 เรียกว่า กลไกอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Mechanism หรือ ERM) เพื่อนำไปสู่การใช้เงินสกุลเดียวกันคือ เงินยูโร ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1999 ดังนั้นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจึงผูกค่าเงินของประเทศตนเองไว้กับเงินมาร์กของประเทศเยอรมนี ซึ่งมีความเป็นอิสระทางการเงิน สามารถกำหนดอุปทานของเงินและอัตราดอกเบี้ยได้


 

 

ทั้งนี้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่และท้ายที่สุดคือ การใช้เงินสกุลเดียวกัน ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ และลดต้นทุนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้การกำหนดตัวแปรที่ธนาคารกลางของอังกฤษต้องการควบคุมโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Anchor) อาจจะช่วยลดเงินเฟ้อของอังกฤษในขณะนั้นด้วย

ในกรณีของประเทศเยอรมนี ภายหลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในปี 1989 เยอรมันตะวันตก รวมกับเยอรมันตะวันออก แต่เนื่องจากเยอรมันตะวันออกมีความล้าหลังทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ในการสนับสนุนสวัสดิการสังคม ค่าใช้จ่ายประกันการว่างงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ดังนั้นการรวมตัวของเยอรมนีก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐอย่างมาก แต่เยอรมันตะวันตกเต็มใจที่จะจ่ายต้นทุนเหล่านี้เพื่อต้องการเห็นประเทศรวมตัวกัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเยอรมนีเกรงว่าเศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไปจะทำให้เกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ดังนั้นเพื่อป้อง กันความเสี่ยงของเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ธนาคารกลางเยอรมนีซึ่งมีความเป็นอิสระทางการเงินเลือกที่จะใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัว โดยลดอุปทานเงินและเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้อังกฤษจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเพื่อจะรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้อุปสงค์ของอังกฤษลดลง ถ้าอังกฤษยังคงผูกค่าเงินปอนด์ไว้กับเงินมาร์กของเยอรมนีและรักษาสมาชิกภาพใน ERM อังกฤษจะเผชิญกับการถดถอยของเศรษฐกิจ

แต่ถ้าอังกฤษตัดสินใจออกจากระบบ ERM หมายถึงยอมให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงได้ ดุลการค้าของอังกฤษจะสูงขึ้น อุปสงค์เพิ่มขึ้น และผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เพียงแค่ 2 ปีที่อังกฤษเข้าร่วม ERM ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นตัดสินใจออกจาก ERM เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าประโยชน์ของการอยู่ใน ERM น้อยกว่าต้นทุนของความสูญเสียจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเยอรมนี ซึ่งเป็นเหตุการณ์และเป้าหมายเฉพาะของเยอรมนีเอง