ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

08 ก.พ. 2563 | 11:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3547 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-12 ก.พ.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

รายงานผลการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่มี นายชวลิตวิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ เมื่อเทียบกับการประเมินภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เกิดความไม่เป็นธรรม และมีผลกระทบต่อประชาชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ประกอบการในวงกว้าง

ผลการศึกษาระบุว่า การประเมินภาษีตามหลักการของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะทำให้รายได้การจัดเก็บภาษีของ อปท.-กทม.-เทศบาลทั่วประเทศลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนงานโครงการต่างๆ ของท้องถิ่นที่ได้จัดเตรียมหรืออนุมัติไว้ทั้งระบบ

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท สยามจตุจักร จำกัด เสียภาษีบำรุงท้องที่ให้กับ กทม.ในปี 2562 ถึง 13,501,050 บาท แต่เมื่อมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้จะถูกจัดเก็บแค่ 4,363,090  บาท

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 จำนวน 26,677,410 บาท เมื่อนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ จะจัดเก็บภาษีในปี 2563 ได้แค่ 3,983,109  บาท

เทศบาลนครแหลมฉบัง ในปี 2562 จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากท่าเทียบเรือซี 3  จำนวน 60,625,000 บาท เมื่อเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 จะเสียภาษีแค่ 3,060,770  บาท

ห้างฮาร์เบอร์ มอลล์ มีภาระจ่ายภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 จำนวน 7,337,217 บาท เมื่อนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเก็บในปี 2563 เสียแค่ 1,506,872 บาท

 

หลายคนสงสัยว่าเกิดจากอะไร ผลการศึกษาระบุว่าเกิดจากความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

ประการแรก พระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องอาศัยกฎหมายลำดับรองจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น การไม่มีกฎหมายลำดับรองจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้หลักการกว้างๆ ความชัดเจน ในการกำหนดการปฏิบัติงานจะอยู่ในกฎหมายลำดับรอง ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถออกกฎหมายทั้งหมดได้ทันกำหนดเวลา ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ทราบรายละเอียด หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน และไม่สามารถดำเนินการแจ้งบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ถูกต้องครบถ้วน

ความไม่ชัดเจนของพระราชบัญญัติเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายลำดับรองนั้น นอกจากจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายฉบับนี้ด้วย

นอกจากนี้ กฎหมายยังมีปัญหาเนื่องจาก การใช้ประโยชน์ในที่ดินในการประกอบเกษตรกรรม ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีประกาศในเรื่องดังกล่าว

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายลำดับรองประกาศใช้ครบถ้วนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังต้องดำเนินการตามหมวด 4 ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 คือ ทำการสำรวจและจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และส่งข้อมูลให้แก่ผู้เสียภาษีแต่ละราย ซึ่งผู้เสียภาษีอาจขอแก้ไขได้อีก ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน

และจากการสอบถามผู้แทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนกว่า 2,000 แห่ง ที่ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจตามกระบวนการข้างต้น

ประการที่ 2 บทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีความชัดเจน

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

ความไม่ชัดเจนของการกำหนดนิยาม “สิ่งปลูกสร้าง” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นิยามคำว่า “สิ่งปลูกสร้าง” ซึ่งเป็นคำที่สำคัญมากในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้ถูกให้ความหมายไว้ในมาตรา5 ซึ่งมีความชัดเจนเพียงส่วนหนึ่ง คือ “โรงเรือนอาคาร ตึก...ที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้...”

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ชัดเจน คือ “...หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือ ที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม” ซึ่งปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายได้มีการจัดทำคู่มือเพื่ออธิบายว่าสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น มีความหมายอย่างไร และคืออะไร

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

เช่น “กระท่อม” ซึ่งปลูกอยู่ในสวนหรือที่นาเพื่อใช้ในการประกอบเกษตรกรรม เป็นสิ่งปลูกสร้าง ชาวนาหรือชาวสวนที่เป็นเจ้าของกระท่อมซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าที่นา หรือเช่าสวนก็เป็นผู้เสียภาษีตามราคาประเมินกระท่อม

หรือ “เครื่องเล่นในสวนสนุก” ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง แต่ “บ้านผีสิงในสวนสนุก” เป็นสิ่งปลูกสร้าง ทั้งๆ ที่หากพิจารณาแล้ว ทั้ง 2 กรณีควรจัดอยู่ในประเภทเดียวกันคือเป็นหรือไม่เป็นสิ่งปลูกสร้าง

ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงในประเด็นการตีความขอบเขตของสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นิยามสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเน้น บุคคลจะเข้าอยู่อาศัยใช้สอยได้

โดยท่าเทียบเรือ แผงโซลาร์เซลล์ แผงกังหันลม เสาสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีภาระที่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมมีภาระภาษี เครื่องจักรที่ต้องเสียภาษี แต่ตามพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ครอบคลุมเครื่องจักร ทำให้ไม่มีภาระภาษี

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)

 

ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัตินั้น สามารถทำให้ชัดเจนและมีผลตามกฎหมายได้ เหมือนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้นิยามคำว่า “อาคาร” ไว้ให้หมายความว่า “ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน (5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

เมื่อได้ตรากฎกระทรวงกำหนดว่า สิ่งใดเป็นอาคารแล้ว ย่อมมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย การโต้แย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น จึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยให้อำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่านิยามของคำว่า “สิ่งปลูกสร้าง” ใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนเพื่อประโยชน์ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย

การเดินหน้าของกฎหมายฉบับนี้จึงยุ่งเป็นยุงตีกัน!

 

ปมใหญ่ภาษีที่ดินฯ เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ (2)