ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์” สะท้อนยางพาราไทย

07 ก.พ. 2563 | 12:15 น.

ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์”  สะท้อนยางพาราไทย

วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2563 ผมได้ไปเก็บข้อมูล “ต้นทุนยางพารามาเลเซีย” กับหน่วยงานที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองมะละกา และเกษตรกรมาเลเซีย

 

หน่วยงานแรกที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลคือ “FGV” ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ตั้งโดย “องค์กรพัฒนาที่ดินแห่งรัฐ (Federal Land Development Authority : FELDA)” ตั้งเมื่อปี 1956 ตามกฎหมายพัฒนาที่ดิน เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรรายย่อยและแก้ปัญหาความยากจน โดยให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราครัวเรือนละ 25 ไร่ (ขณะนี้มีเกษตรกรที่ปลูกปาล์มร้อยละ 80 (2.8 ล้านไร่) และที่เหลือร้อยละ 20 เป็นเกษตรกรปลูกยางพารา อ้อย ถั่วเหลืองและพืชอื่น ๆ )

 

ต่อมามีการจัดตั้งบริษัท FELDA Global Venture  Holding Bhd (FGV) เพื่อทำธุรกิจกลุ่มคลัสเตอร์เกษตรแปรรูปน้ำมันปาล์ม ยางพาราและน้ำตาลครบวงจร (เมื่อปี 2014 มีการตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในเมืองมะริดของเมียนมา โดย FGV ถือหุ้น 51% และบริษัท Pho La Min Trading ของเมียนมาถือหุ้น 49%) และดำเนินธุรกิจปลูกพืชเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคัล (Oleochemicals) และธุรกิจโลจิสติกส์ใน 10 ประเทศ เช่น จีน กัมพูชา ฟิลิปฟินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส สเปน และไทย

 

ในมาเลเซียมีโรงงานแปรรูปยาง 8 โรงงาน ปลูกยางพารา 1 แสนไร่ ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางพารามาเลเซียมีทั้งหมด 4.5 แสนครัวเรือนแบ่งออกเป็นเกษตรกรรายย่อยอิสระ 337,500 ครัวเรือน (สัดส่วน 75% ของเกษตกรทั้งหมด) เกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นกับ “FGV “RISDA” และ FELCA จำนวน 90,000 ครัวเรือน (สัดส่วน 20%) และที่เหลือเป็นบริษัทเอกชน เช่น  บริษัท Sime Darby ผลผลิตยางพาราในมาเลเซียร้อยละ 90 เป็นยางก้อนถ้วยที่เหลือเป็นน้ำยางสดและยางแผ่นอย่างละ 5%

ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์”  สะท้อนยางพาราไทย

 

หลังจากนั้นผมได้ไปเก็บข้อมูลยางพาราที่สวนที่เมืองมะละกาที่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 150 กม. ชื่อว่า “Chop Hock Huat” บนเนื้อที่ 10 เอเคอร์ (25 ไร่) โดย 1 เอเคอร์ปลูก 180 ต้น (72 ต้นต่อไร่) ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 1,165 กิโลกรัม(กก.) ต่อเอเคอร์ (466 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ผลผลิตของไทยเฉลี่ยทุกประเภทยางเท่ากับ 246 กก.ต่อไร่ : คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2561)  โดยต้นทุนเฉลี่ยของยางก้อนถ้วยของมาเลเซียอยู่ที่ 2.2 – 2.5 ริงกิตต่อกก. (16.5 – 18.7 บาทต่อกก.) ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยยางก้อนถ้วยของไทยอยู่ที่ 21.5 บาทต่อกก. และต้นทุนน้ำยางสดมาเลเซียอยู่ที่ 21 บาทต่อ กก. (ของไทย 59 บาทต่อกก.)

 

นอกจากนี้ผมได้เก็บข้อมูลที่ “Malaysian Rubber Board : MRB” ทำให้ผมได้ข้อสรุปเหตุผลที่ “ต้นทุนยางพารามาเลเซียต่ำกว่าไทย” คือ 1.วิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน มาเลเซียคำนวณต้นทุนยางพาราตามแนวคิด “ต้นทุนทางบัญชี” ในขณะที่ต้นทุนของไทยคิดทั้งต้นทุนทางบัญชีและเศรษฐศาสตร์ 2. ค่ากรีดยางมาเลเซียต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายกรีดยางมาเลเซียเป็นสัดส่วน 60% ของโครงสร้างค่าใช้จ่าย แต่ของไทยสัดส่วน 50% ไทยมีค่าใช้จ่าย 4,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่ค่ากรีดของมาเลเซีย 2,783 บาทต่อไร่  

ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์”  สะท้อนยางพาราไทย

 

3.ต้นทุนในการขนส่งถูกกว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในมาเลเซียถูกกว่าไทยเฉลี่ย 10 บาทต่อลิตร  4.ค่าปุ๋ยมาเลเซียแพงกว่า อยู่ที่กระสอบ (50 กก.) ละ 135 ริงกิต (1,012 บาทต่อกระสอบ) แต่ไทยมีค่าใช้จ่ายกระสอบละ 800 บาท 5.ค่าแรงงานในสวนยางที่ถูก มาเลเซียจ่ายค่าแรงงานในสวนยางอยู่ที่วันละ 225 บาทต่อวัน (30 ริงกิตต่อวัน) ในขณะที่ไทยจ่ายมากกว่า 400 บาทต่อวัน  6.ผลผลิตต่อไร่ยางก้อนมาเลเซียสูงกว่า มาเลเซียอยู่ที่ 466 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 452 กก.ต่อไร่ (จาการสำรวจในปี 2559 ในภาคตะวันออกโดย “อัทธ์ พิศาลวานิช”)

ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์”  สะท้อนยางพาราไทย

 

 7.การผลิตจัดการสวนยางพาราแตกต่างจากไทย เกษตรกรรายย่อยมาเลเซียถูกบริหารจัดการเกษตรกรรายย่อยด้วย 3 ฝ่ายคือ หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และเอกชน 8.การบริหารจัดการด้านราคาจากรัฐบาล  โดยรัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรและผู้ประกอบการที่เรียกว่า  “Rubber Production Incentive (IPG)” กำหนดราคายางแท่ง (SMR 20) ที่ราคา FOB ไม่ต่ำกว่า 6.1 ริงกิตต่อกก. และยางก้อนถ้วยไม่ต่ำกว่า 2.5 ริงกิตต่อกก. (ไม่ต่ำกว่า 18.85 บาทต่อกก.) หากราคาต่ำกว่านี้รัฐบาลจะเข้าไปจ่ายเงินช่วยเหลือ

ส่อง “ต้นทุนยางมาเลย์”  สะท้อนยางพาราไทย

 

นอกจากนี้ให้เงินในการเปลี่ยนยางพันธุ์เก่าเป็นยางพันธุ์ใหม่ 1,200 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (9,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน) เป็นระยะเวลา 6 ปี การคำนวณต้นทุนของยางพาราไทยมีความสำคัญ 2 อย่างคือ การแข่งขันในต่างประเทศ และการช่วยเหลือของรัฐบาล การไม่ทราบข้อเท็จจริงของต้นทุนที่แท้จริงจะทำให้ “ไทยจะแข่งขันยากในตลาดโลก”