คัมภีร์ใหม่ "พาณิชย์" ป้องทุจริตข้าวจีทูจี?

08 ก.พ. 2563 | 08:10 น.

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีวาระหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจนั่นคือ แนว ทางปฏิบัติในการเจรจา และการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government - G to G)

แม้ว่าในเอกสารที่นำเสนอเรื่องต่อครม.จะระบุวัตถุประสงค์เป็นภาษาทางราชการว่า เพื่อให้การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐสามารถดําเนินการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีความจําเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางปฏิบัติในการเจรจา และทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ครั้งมโหฬารในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาจำคุกอดีตรัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายราย

เมื่อเจาะลึกในเอกสารที่นำเสนอต่อครม. พบประเด็นที่น่าสนใจ ที่เป็นช่องว่างที่ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้กําหนดกฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการเจรจาและทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ชัดเจน มีเพียงแนว ทางปฏิบัติที่กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในบริหารจัดการและกํากับดูแลการส่งออกข้าวยึดถือปฏิบัติ ในการเจรจาและทําสัญญาขายข้าวแบบ G to G มาอย่างยาวนานเท่านั้น

คัมภีร์ใหม่ "พาณิชย์" ป้องทุจริตข้าวจีทูจี?

ดังนั้นเพื่อให้การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมีความโปร่งใสชัดเจนมากขึ้น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจา และการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Govern ment to Government - G to G) สำหรับแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

การเจรจาและทําสัญญารัฐบาลของประเทศคู่เจรจา และทําสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทย จะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นลายลักษณ์อักษรให้ดําเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่หน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ บางประเทศที่มีหน่วยงานที่ทําหน้าที่ในการเจรจาและทําสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในวงการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศจะทราบดีว่าคือหน่วยงานใด

กรณีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อเป็นหน่วยงาน นอกเหนือจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ ไม่เคยซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทยมาก่อน มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าว แบบ G to G จากรัฐบาลไทย กรมการค้าต่างประเทศจะต้องประสานสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย

การชําระเงิน ต้องเป็นการชําระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด Letter of Credit (LG) และการโอนเงินระหว่างประเทศ (Telegraphic Transfer T/T) เป็นต้น ซึ่งจะต้องสามารถตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคาร ทั้งของไทยและธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทําธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว

การส่งมอบข้าว รัฐบาลไทยจะต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง ซึ่งมีหลักฐานที่สําคัญคือใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แบบ อ.2 (สินค้าข้าว) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ โดยต้องระบุว่าเป็นการส่งออก “ข้าวรัฐบาล” เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกตามประกาศกระทรวงพาณิชย์

ขั้นตอนในการเจรจาและทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G การซื้อขายข้าวแบบ G to G โดยทั่วไปจะเริ่มจากรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ แจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยโดยมีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์หรือกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง หรือมีหนังสือผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศหรือช่องทางการทูต ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศสามารถประสานสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อีกทางหนึ่ง

คัมภีร์ใหม่ "พาณิชย์" ป้องทุจริตข้าวจีทูจี?

เมื่อกรมการค้าต่างประเทศ ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วจะประสานสอบถามรายละเอียด อาทิ ชนิดข้าว ปริมาณ และเงื่อนไข การส่งมอบ เป็นต้น กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อในเบื้องต้นก่อน และจะเสนอเรื่องให้ผู้มีอํานาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาหรือกรอบการเสนอราคาประมูลขายข้าวก่อนดําเนินการต่อไป

ในการเจรจาซื้อขายข้าว รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาภายใต้กรอบที่ได้รับความเห็น ชอบ จนกระทั่งสามารถตกลงราคาและรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ในร่างสัญญาได้แล้ว

 

ข้อกําหนดหลักในสัญญา ประกอบด้วย ชนิดข้าว คุณลักษณะข้าว ปริมาณ ราคา เงื่อนไขการส่งมอบ กําหนดส่งมอบ การชําระเงิน ข้อกําหนดเกี่ยวกับกระสอบ บรรจุข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว การระงับข้อพิพาทและกฎหมายที่บังคับใช้ เป็นต้น หลังจากนั้นกรมการค้าต่างประเทศจะต้องเสนอร่างสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ดังกล่าว ให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามต่อไป

การขายข้าวโดยวิธีการเข้าร่วมประมูลเสนอราคา รายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาจะเป็นไปตามข้อกําหนดการประมูล (Terms of Reference TOR) ของหน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ และกรมการค้าต่างประเทศจะเสนอผลการเจรจาหรือผลการประมูลเสนอราคาขายข้าวให้ผู้มีอํานาจตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบการตกลงราคาและทําสัญญาก่อนจะลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวต่อไป

การเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลหลายประเทศ การเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในสัญญานอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาทําสัญญาซื้อขายข้าว กับรัฐบาลประเทศผู้ซื้อรายอื่นยังทําให้รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาได้

ดังนั้นกรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G บางส่วน เช่น ชนิดข้าว ปริมาณ และกําหนดส่งมอบ เป็นต้น ที่สามารถเปิดเผยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ขัดต่อข้อกําหนดในสัญญาและไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ

หลังจากนี้ก็ต้องติดตามกันว่าแนว ทางปฏิบัติในการเจรจา และการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ออกมาจะป้องกันการทุจริต สร้างความโปร่งใสให้กับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้มากน้อยแค่ไหน?

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563