ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ

06 ก.พ. 2563 | 01:45 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3546 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.พ.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่ผ่านรัฐสภาไปแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ ต้องถอยร่นออกไปจนกว่าจะมีการทำคลอดกฎหมายลูกมาบังคับใช้ กำลังอยู่ในภาวะลูกผี-ลูกคน

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เรื่องปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ.2562 โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า คณะกมธ.ได้ตั้งคณะอนุกมธ.ชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และศึกษาว่ามีกฎหมายใดที่มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร โดยได้ศึกษาผลกระทบของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภา

          ในเวลานั้น กมธ.ชี้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี หวังว่าจะจัดเก็บภาษีและถือครองที่ดินที่เป็นธรรม และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้เพิ่มกว่าเดิม แต่กลับมีผลกระทบในทางปฏิบัติตามมามากมาย เช่น

          1. บทบัญญัติหลายเรื่องมีความไม่ชัดเจน เช่น นิยามคำว่า “สิ่งปลูกสร้าง” ในมาตรา 5 หรือเรื่องการกำหนดฐานภาษีไม่ชัดเจน

          2. การคำนวณภาษีไม่เป็นธรรม เช่น ยกเว้นให้บ้านหลังแรกที่มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท

          3. ผลกระทบต่อรายได้ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนที่จะได้รายได้เพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยช่วงเริ่มต้นมีการประเมินว่า ท้องถิ่นน่าจะได้ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีการประกาศใช้ไป มีการประเมินกันใหม่น่าจะเหลือรายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับเก็บเป็นภาษีโรงเรือน และที่ดิน

          4. เมื่อ อนุกมธ.ได้เชิญผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและท้องถิ่น มาให้ข้อมูล เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจงว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 1,400 แห่ง ที่ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีตัวนี้ คิดเป็น 11,490 ล้านบาท แต่กลับมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,337 แห่ง มีรายได้ลดลง คิดเป็น 13,218 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้เท่าเดิม 294 แห่ง

 

          กมธ.จึงยืนยันในหลักการว่า หากใช้ภาษีนี้ต่อไปท้องถิ่นจะมีรายได้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลเตรียมไว้ หรือจัดสรรปันส่วนเงินเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกระจายอำนาจ จะไม่สามารถจัดได้ทันในปีนี้ ส่งผลกระทบร้ายแรงว่า ปีนี้ท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายที่ขาดรายได้ จึงเสนอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน เพื่อตระเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้

          วันนั้น สมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายสนับสนุนโดยเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นตัวอย่างของการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้ และหน่วยงานรัฐเอง ก็ยังไม่มีความพร้อม เอื้อผู้มีรายได้สูงและบรรดาเจ้าสัวต่างๆ

          ที่ประชุมรัฐสภาวันนั้น จึงมีมติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ พร้อมแนบความเห็นของสมาชิกประกอบไปพร้อมกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ เพื่อเสนอครม. ต่อไป

          วันนี้ผลการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่มี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอนุกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขกฎหมายปรับปรุงกฎหมายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบสรุปผลเรียบร้อย

          รายงานชี้ให้เห็นว่า การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ เมื่อเทียบกับการประเมินภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เกิดความไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ประกอบการ จำนวนมาก

          ภาระภาษีของประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในเทศบาลนครแหลมฉบัง 2 ราย คือ นาง ก. ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีภาระจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 จำนวน 1,041 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 13,462.43 บาท

          ส่วนนาย ข. ประเภทที่ดินเพื่อเกษตรกรรม/ที่ว่างเปล่า/ที่จอดรถ มีภาระเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในปี 2562 จำนวน 1,171 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 16,199.63 บาท ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 10 เท่าใน 1 ปี อย่างไรก็ดี อัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อ อนุกมธ.ว่า เนื่องจากกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้มีการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินมาตั้งแต่ปี 2521

 

          คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสรุปให้ชะลอการบังคับใช้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ออกไป และพบข้อโต้แย้งในประเด็นทางกฎหมาย ดังนี้

          1. ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติในกฎหมาย

          2. ความไม่พร้อมในการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากกฎหมายมีความยุ่งยากและวิธีปฏิบัติมากมาย

          อนุกมธ.ระบุว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ ให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่ในรายละเอียดกลับก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายต่อสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนและผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างรุนแรงมาก

          รุนแรงอย่างไรไว้ต่อกันฉบับหน้า แต่ผมว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งจะมาแทนที่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจะถูกยกเลิกไป

          ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป โดยให้เลื่อนการแจ้งประเมินภาษีจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2563 และเลื่อนการชำระภาษีจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากกฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

          เห็นท่าจะยุ่ง เพราะไปดูไส้ในแล้ว ต้องบอกว่าหืดขึ้นคอ พ่ะย่ะค่ะ !