เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย วันมาฆบูชา

05 ก.พ. 2563 | 04:10 น.


คอลัมน์เศรษฐเสาวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์  2563

 

เนื่องด้วยในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งก็คือ วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 3 ของทุกปี

ความสำคัญของวันนี้ ตามพุทธประวัตินั้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และส่งพระสงฆ์ สาวกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว 9 เดือน วันหนึ่งในขณะที่พระองค์เสด็จประทับจำวัดอยู่ที่วัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาที่สร้างถวายโดยพระเจ้าพิมพิสาร ตั้งอยู่ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธนั้นได้เกิดเหตุการณ์พิเศษ 4 ประการขึ้นที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาตซึ่งประกอบด้วย

1) เป็นวันมาฆปูรมี คือวันเพ็ญขึ้น 15 คํ่ากลางเดือนมาฆะ หรือเดือน 3 จึงเรียกว่าวันมาฆบูชา

2) มีพระภิกษุมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันนั้นจำนวน 1,250 รูป ที่ล้วนมาประชุมกันโดยมิได้ นัดหมาย

3) พระภิกษุที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกรูปล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

 และ 4) พระภิกษุเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

การที่พระสงฆ์ 1,250 รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากเนื่องจากว่าในช่วงประมาณ 2,600 ปี ก่อนยังไม่มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยอย่างเช่นทุกวันนี้

การนัดหมายผู้คนหมู่มากที่กระจายกันอยู่คนละทิศทางให้มาประชุมกันที่ใดที่หนึ่งจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก และการประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการนี้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่

 

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย  วันมาฆบูชา

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระสงฆ์จำนวนมากมาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสดี เหมาะสมที่จะแสดงหลักธรรมที่สำคัญหลักหนึ่งซึ่งก็คือโอวาทปาติโมกข์อันเป็นหลักธรรมที่เรียกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ การละเว้นการกระทำความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส

จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชานั้น จะเห็นได้ว่ามีนัยทางเศรษฐศาสตร์แฝงอยู่ด้วยกัน 3 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก จากพุทธประวัติ เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาหลักธรรมต่างๆ ในหลากหลายระดับจำนวนผู้ฟัง และทรงเลือกหลักธรรมตามความเหมาะสมและตามระดับปัญญาของผู้ฟัง เช่น ทรงแสดงธรรมเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ (5 คน) ซึ่งเป็นการแสดงปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา ทรงแสดงธรรมเรื่องทิศ 6 แก่สิงคาลมาณพ (1 คน) เป็นต้น

 แต่ในวันมาฆบูชานี้ เป็นการแสดงพระธรรมเทศนาที่มีพระสงฆ์มารอฟังเป็นจำนวนมากถึง 1,250 รูป และทุกรูปล้วนมีความสามารถทางปัญญาสูง เพราะว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น


 

 

ดังนั้น ถ้าเราเปรียบการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้า เสมือนเป็นการผลิตบริการประเภทหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ก็นับว่าเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Efficient production) เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงเลือกแสดงธรรมที่ถือว่าเป็นแก่นหรือหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันต์ที่มาเฝ้าเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะให้พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปดังกล่าวนำโอวาทปาติโมกข์ไปเผยแผ่ต่อได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ประการที่ 2 วันมาฆบูชายังถือว่าเป็นวันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย เพราะเราจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของโอวาทปาติโมกข์ ก็คือการส่งเสริมให้ทุกคนตั้งมั่นในการละเว้นความชั่ว โดยการละเว้นความชั่วนั้นหมายถึงการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันนั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้ทุกคนรู้จักรักและมีเมตตาต่อผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เปรียบได้กับการที่บุคคลจะไม่สร้างผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externalities) นั่นเอง

นอกจากนี้ การตั้งมั่นทำความดี ทำกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นก็จัดว่าเป็นการสร้างผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive Externalities) ด้วยเช่นกัน

 

 

ประการที่ 3 จากโอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงในวันมาฆบูชานั้น นายเสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ปี 2534 -2535) ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้อธิบายว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (ปี 2525- 2529) ที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้น จัดเป็นแผนพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics Plan) เนื่องจากแผนดังกล่าวมีรากฐานมาจากโอวาทปาติโมกข์นั่นเอง กล่าวคือ

1) การละเว้นการทำความชั่ว ได้แก่ ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ

2) การกระทำความดี ได้แก่ การนำทรัพยากรมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

และ 3) การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้แก่ ความพยายามในการลดอัตราการเร่งการพัฒนาทางด้านวัตถุ เพราะว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจและปัญหาทางสังคมได้ เป็นการลดความโลภ ไม่อยากได้ในวัตถุหรือสินค้าต่างๆ

แม้ว่าคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างโอวาทปาติโมกข์จะเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในช่วงต้นๆ ภายหลังการตรัสรู้ มีหลักการง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอยู่แค่ 3 ประการ

 แต่ก็ต้องเตือนตนเองให้ระลึกได้ตลอดและต้องปฏิบัติตามอย่างสมํ่าเสมอ ต้องอาศัยการฝึกตนเองอยู่เนืองๆ ดังนั้นจึงยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าว เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข

 

แหล่งอ้างอิง: อภิชัย พันธเสน (2544) “พุทธเศรษฐศาสตร์ วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด