กรมชลฯเปิดแผนผันน้ำสู้ภัยแล้ง(มีคลิป)

02 ก.พ. 2563 | 23:00 น.

 

ขณะนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน  ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก  เกิดอาการหวั่นวิตกถึงปัญหาภัยแล้งปี 2563 ที่รุนแรงกว่าปีที่เคยประสบปัญหาภัยแล้งมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกยกระดับให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ต่างประเมินวิกฤติภัยแล้งถึงระดับมีความเสี่ยงสูง ว่าปริมาณน้ำจะมีใช้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการใช้น้ำในภาคการผลิต ในพื้นที่อีอีซีถือเป็นศูนย์รวมของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านเศรษฐกิจ 

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษนายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9  ถึงการบริหารน้ำให้ทุกภาคส่วนได้ใช้อย่างเพียงพอ ตลอดวิกฤติภัยแล้งปีนี้  หลังจากที่ไทยเคยเผชิญภัยแล้งหนักเมื่อปี 2522 และปี 2548 มาแล้ว

กรมชลฯเปิดแผนผันน้ำสู้ภัยแล้ง(มีคลิป)

เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค

-ปีนี้ชัดเจนว่าภัยแล้งรุนแรงสุดตั้งแต่เคยเผชิญมา

ถ้ามองจากปริมาณน้ำฝน  ปี 2563 กรมอุตุฯเปรียบเทียบให้แล้วว่า ปีนี้เป็นปีที่วิกฤตใกล้เคียงกับปี 2522  ย้อนหลังไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปี 2548  ดังนั้นปีนี้ปริมาณฝนในภาคตะวันออกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30-50% โดยเฉพาะเกือบทุกอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อีอีซี

 “ปัญหานี้รับรู้มาตั้งแต่แรกแล้วที่เห็นว่าสถานการณ์ผิดปกติ  จึงมีการติดตามน้ำฝนมาตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2562  รวมถึงเรื่องการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งที่ผ่านมาเราผันน้ำมาแล้ว 100 ล้านลบ.ม. ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2562  และตอนนี้ก็ยังผันมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ลดปริมาณการผันลงเนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ก็ลดลงไปแล้วประมาณ 50% ”

นอกจากนี้มีการประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ กันน้ำเพื่อการเกษตรของพื้นที่แหล่งน้ำประแสร์ไว้ ส่วนที่เหลือก็ผันมาที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลต่อเนื่องโดยมีแผนจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีก 60 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วในปัจจุบัน ที่ขณะนี้ได้ผันมาแล้วประมาณ 10 ล้านลบ.ม.  ตอนนี้ยังเหลือปริมาณน้ำที่จะผันมาอีกจำนวน 50 ล้านลบ.ม.ที่จะผันมาช่วยในช่วงฤดูแล้งนี้

กรมชลฯเปิดแผนผันน้ำสู้ภัยแล้ง(มีคลิป)

บริเวณพื้นที่ด้านหนึ่งของอ่างเก็บนำ้หนองปลาไหล

 

-ถือว่าอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว

ต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ แต่เรายังสามารถบริหารจัดการได้โดยการผันน้ำมาจากอ่างประแสร์ โดยเราจะสามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  หลังจากนั้นถ้าฝนไม่ตกเราจะผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีกแต่จะเป็นการสูบกลับน้ำมาจากท้ายอ่างประแสร์ซึ่งจะมีคลองสะพานอยู่ 1 แห่ง ซึ่งคลองแห่งนี้น้ำจะไม่ไหลลงอ่างประแสร์แต่จะมีปริมาณน้ำที่ไกล้เคียงกับน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เราก็จะสูบกลับไปเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  โดยมีแผนจะสูบกลับได้เดือนละ 6 ล้านลบ.ม.เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงฝนไม่ตก

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลจะมีความจุอ่าง 163.7 ล้านลบ.ม.  แต่เราเพิ่มความจุอ่างไปอีก 24 ล้านลบ.ม.รวมเป็น 187 ล้านลบ.ม. ตอนนี้ ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 เหลือปริมาณน้ำอยู่ราว 38.29 ล้านลบ.ม. หรือสัดส่วน 23.39%

ปัจจุบันการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดระยองจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรม บริโภคอุปโภค รวมทั้งสิ้น  1.12 ล้านลบ.ม.ต่อวัน  โดยมาจากอ่างเก็บน้ำหลัก 5 อ่างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ,อ่างเก็บน้ำดอกกราย  , อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ,อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองระโอก  โดยการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมจะผ่านบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์ และอีกส่วนใช้ตรง ส่วนประปาก็ใช้ตรงและผ่านอีสท์วอเตอร์ด้วย

-ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าปีนี้น้ำไม่พอใช้แน่นอน

ตอนนี้เรามีน้ำเหลืออยู่  3 อ่างเก็บน้ำ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย  อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  รวมปริมาณน้ำ  65 ล้านลบ.ม.  ถ้าคิดว่าจังหวัดระยองใช้น้ำวันละ 1 ล้านลบม. ก็ใช้ได้ถึง 65 วัน   แต่เราจะนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาเสริมอีก 60 ล้านลบ.ม.  ที่ขณะนี้ดึงมาใช้แล้ว 10 ล้านลบ.ม. เหลืออีก 50 ล้านลบ.ม. ก็ได้เพิ่มอีก 50 วัน รวมเป็น 115 วัน  แต่ก็ยังไม่พอดีกับฤดูฝน  เราจึงต้องผันน้ำมาอีก 20 ล้านลบ.ม. โดยจะมาจากการสูบกลับท้ายอ่างคลองสะพาน และจากน้ำที่ไหลลงอ่างประแสร์

นอกจากนี้อีกส่วนจะมาจากคลองวังโตนด จันทบุรี  ที่เพิ่งหารือกับกลุ่มเกษตรกรจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดไป เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา   ตรงนี้ล่าสุดชาววังโตนดมีน้ำใจแบ่งปันน้ำให้ชาวระยอง โดยขอผันน้ำมาประมาณ 10 ล้านลบ.ม. (ที่ขอแบ่งปันน้ำมาจากภาคเกษตรในลุ่มน้ำคลองวังโตนด  ) จะเริ่มผันน้ำส่วนนี้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะใช้เวลาผันน้ำได้วันละ 5 แสนลบ.ม. เป็นเวลา 20 วันจนครบ 10 ล้านลบ.ม. ผันจากคลองวังโตนดมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์และผันต่อมายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

กรมชลฯเปิดแผนผันน้ำสู้ภัยแล้ง(มีคลิป)

บริเวณท้ายอ่างเก็บนำ้ดอกกราย

 

ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองวังโตนด  จะมีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 4  แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำประแกด ( สร้างเสร็จแล้ว) ความจุอ่างเก็บน้ำ 60.26 ล้านลบ.ม.   แต่มีน้ำอยู่  47 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่  อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ทั้ง 4 อ่างนี้มีความจุอ่างรวมกัน  308.5 ล้านลบ.ม.

ทั้งหมดนี้เราต้องการบริหารให้การใช้น้ำทั้ง 3 อ่าง(หนองปลาไหล  ดอกกราย  คลองใหญ่)  อยู่ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และมีน้ำเติมเข้ามาเพื่อให้ชนกับฤดูฝน  ถ้าฝนตกเราก็ยังสูบน้ำใช้ได้อีก  และยังมีส่วนที่สูบกลับได้อีก โดยการบริหารจัดการเรื่องน้ำกรมชลประทานก็ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอีสต์วอเตอร์ดูแลทั้งการประปาและภาคอุตสาหกรรม

 ส่วนกรมชลก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอแต่ละลุ่มน้ำแต่ละอ่างเก็บน้ำ  พอวิกฤติก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา เช่น ตัวที่สูบกลับ ที่คลองสะพาน  ใช้งบประมาณค่าท่อก็ประมาณ 50 ล้านบาท อีสท์วอเตอร์เป็นคนดำเนินการทั้งหมด  ตรงนี้อยู่ในขั้นตอนการซื้อท่ออยู่   ส่วนที่เราวางท่อสูบกลับน้ำที่ทำไว้เมื่อปี2548  ไม่สามารถใช้ได้กับปีนี้ เนื่องจากไม่มีน้ำที่เราจะสูบมาได้  เพราะเป็นปีที่วิกฤติหนักกว่าปี 2548  ส่วนอ่างเก็บน้ำประแสร์จะเป็นจุดหลักในการผันน้ำในขณะนี้

-โครงข่ายการผันน้ำเชื่อมโยงถึงกันสะดวกขึ้น

เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันได้หมดแล้ว  เราส่งน้ำจากระยองไปยังชลบุรีด้วย  ที่ชลบุรีได้เตรียมการมาตั้งแต่ฤดูฝนที่เราสูบน้ำมาจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมาได้ 49 ล้านลบ.ม. ในฤดูฝนปี 2562 และอีสท์วอเตอร์สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง  2 จุด  ได้น้ำเข้ามา 8 ล้านลบ.ม.  เอามากักไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ

“ถ้ามาดูพื้นที่ภาคตะวันออกฝนจะมากที่สุดในจังหวัดตราด  รองลงมาที่จันทบุรีและที่ระยองตามลำดับ ฉะนั้นที่จังหวัดชลบุรีจะมีฝนน้อยที่สุด  และไม่มีคลองและแม่น้ำ ต้องอาศัยแหล่งน้ำจากพื้นที่รอบๆด้วย  และจำเป็นต้องอาศัยฝนที่จังหวัดจันทบุรี ระยองมาช่วยกัน  และในอนาคตเราอาจต้องดึงน้ำจากตราดมาช่วยด้วยก็ได้”

-ในแง่กรมชลประทานมั่นใจแค่ไหนจะรับมือได้

ล่าสุดกรมชลประทานฯ  มีความมั่นใจ 100% ในแง่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆที่เราบริหารอยู่  แต่ยังไม่มั่นใจในแง่การสูบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำที่อาจจะไม่ทันเพราะเรามีการสูบเต็มศักยภาพแล้ว  การผันน้ำแต่ละที่ก็ไม่ได้มายังอ่างเก็บน้ำปลายทางทันที  การจะขอใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นก็ต้องใช้เวลาเจรจา

“ที่ผ่านมาขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขอลดการใช้น้ำลง 10%  ยอมรับว่าบางส่วนยังให้ความร่วมมือไม่เต็มที่   สมมติน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมี 25 ล้านลบ.ม.  ถ้าใช้วันละ 2.5 แสนลบ.ม. เท่ากับว่าเราจะใช้น้ำได้อีกประมาณ 100 วัน  จากปกติใช้น้ำวันละ 8 แสนลบ.ม.  ก็ต้องลดการใช้น้ำลงให้เท่ากับปริมาณน้ำที่มี  ฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายรีบลดการใช้น้ำลงในตอนนี้ก็จะยืดเวลาการใช้น้ำได้  ซึ่งตรงนี้ยังกังวลว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอแต่จะผันมาใช้ไม่ทัน”

คอลัมน์   พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์