ศรีธนญชัย-ทะแนะ แก้ปมพ.ร.บ.งบ 'อัปยศ'

28 ม.ค. 2563 | 12:00 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3544 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 1 ก.พ.63 โดย... พรานบุญ

 

ศรีธนญชัย-ทะแนะ

แก้ปมพ.ร.บ.งบ 'อัปยศ'

 

            งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เกิดความล่าช้าจากกรณีที่ “ส.ส.ผู้ไร้เกียรติ” จากพรรคภูมิใจไทย 2 คน คือ “ฉลอง เทอดวีระพงศ์-นาที รัชกิจประการ” ไม่อยู่ในห้องประชุมรัฐสภา แต่กลับมี “มือดี”โหวตลงมติผ่านรายมาตรา จนกลายเป็นรอยด่างครั้งสำคัญของกฎหมายสำคัญของประเทศ

            จนต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะมีผลอย่างไร จากการกระทำผิดโดยการเสียบบัตรและลงมติแทนกัน...ต้องลุ้นกันระทึกว่า “โมฆะ ไม่โมฆะ”

            นังบ่าง นังชะนี อีเห็น ผู้ชํ่าชองในป่ารกชัฏบอกว่า ความมักง่ายของ ส.ส.ผู้ไร้เกียรติ ครั้งนี้ อาจจะเป็นผลให้ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 น่าจะต้องตกไปทั้งฉบับ

            ขณะที่ทะแนะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาชี้ทางออกว่า ลงมติในมาตราใดก็หักออกไปในมาตราที่มีการลงมติแทนกันเท่านั้นพอ

            พรานฯขอบอกว่า เรื่องนี้ใหญ่มากมิใช่แค่กฎหมายจะผ่านไม่ผ่าน แต่หมายถึงบรรทัดฐานประเทศ บรรทัดฐานรัฐสภาไทย

            ขืนตีความแบบศรีธนญชัยเช่นนี้ รัฐบาลลุงตู่อยู่ยากแน่ มวลชนที่เคยเป็นผนังทองแดงกำแพงหลักจะหดหาย ความเอือมระอาหน้าด้าน จะจุดติดเป็นไฟในนาครเชียวแหละ!

 

            พรานฯท่องไปในสภา 500 จำพวกบวกหนึ่งที่อื้ออึงไปด้วยผลประโยชน์ของชาติพบว่า ถ้าทำให้การโหวตงบประมาณโดยที่ส.ส.ผู้ลงมติไม่อยู่ก็ให้หักตามรายมาตราออกไป จะมีปัญหาตามมาในทางปฏิบัติอีกมาก

            เอาทีละข้อนะ ข้อแรกคือ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ได้ผ่านกระบวนการตามมาตรา 143 และมาตรา 144 ที่มีการแปรญัตติไปแล้วใช่หรือไม่

            หากยึดว่า การที่งบได้พิจารณาเสร็จภายใน 105 วันแล้ว หากมีปัญหาให้รัฐบาลนำไปใช้ได้เลยก็มีปัญหาอีก

            เพราะในการลงมติของพ.ร.บ.งบประมาณแต่ละมาตรานั้น ผูกกันหมด มิใช่เพียงแต่ลงมติรายมาตรา หรือมาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น

            ทุกมาตราในร่างงบประมาณรายจ่ายมีความสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อมีการปรับลดยอดเงินที่ตั้งไว้จากการแปรญัตติ ก็มีการอนุมัตินำไปจัดสรรให้ส่วนราชการต่างๆ หรือนำไปเพิ่มงบกลางที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

            แล้วคงยอดทั้งหมดไว้เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมที่รัฐสภาได้มีมติรับหลักการไว้ในวาระที่หนึ่ง

            คำถามที่ทะแนะ ศรีธนญชัยทางกฎหมายต้องอธิบายคือ วงเงินที่ปรับลด เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงจากการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญผูกมัดไว้กับการลงมติหรือไม่

            ถ้าผูกพันกัน การลงมติของส.ส.โดยที่ตัวเองไม่อยู่ก็มิชอบนะขอรับ มิใช่ว่าใครจะทำให้ชอบได้

            รอยด่างจากการยอมให้ใครบางคนเสียบบัตรลงมติแทนกันของ ส.ส.จึงน่าจะเป็นผลให้ร่างงบประมาณปี 2563 ตกไปทั้งฉบับ

 

            และอาจจะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยในยุครัฐบาลลุงตู่นี่แหละ ที่ต้องนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ทั้งฉบับ มาใช้แทนงบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 วรรคหนึ่งที่บัญญัติไว้ว่า

            “ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนไปพลางก่อน”

            มาดูกันว่าศรีธนญชัยจะทำอย่างไร

            อ้อ เพื่อให้ทุกท่านตาแจ้ง ก่อนที่จะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่อัปยศ พรานฯขอให้อ่านกฎหมายในมาตรา 143 ดูนะขอรับ

            ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร

            ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา

            ในการพิจารณาของวุฒิสภา วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้นในกรณีเช่นนี้ และในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81

            ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้นำความในมาตรา 138 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที

            ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและวรรคสาม มิให้นับรวมระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

            ตาแจ้งมั้ยนังบ่าง ช่างยุ