มัจฉาสตรีท กับการจัดการทรัพยากรประมง

29 ม.ค. 2563 | 05:40 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2563

 

ทะเลเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการท่องเที่ยว เป็นที่ตั้งของแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ ท่าเรือ รวมไปถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรประมง ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมหรือคาบสมุทร มีทะเลขนาบทั้ง 2 ด้านทำให้มีฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,150 กิโลเมตร ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดอาชีพสำคัญของคนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ก็คืออาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมนับตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเล

โดยที่ชาวประมงพื้นบ้านจะทำประมงในบริเวณระยะทาง 3 กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลหรือตามกำลังของผู้ทำประมง โดยใช้เรือขนาดเล็กและเครื่องมือที่ใช้เป็นเครื่องมือจับสัตว์นํ้าที่สร้างขึ้นอย่างง่ายด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งไม่ทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและระบบนิเวศ มุ่งเน้นเพียงแค่การหาวัตถุดิบมาประกอบอาหารเพื่อยังชีพตนเอง ครอบครัวและชุมชน หากเหลือจากการบริโภคภายในชุมชนก็แบ่งปันกันกินในลักษณะกึ่งขายกึ่งให้ เป็นรูปแบบของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน

 

มัจฉาสตรีท  กับการจัดการทรัพยากรประมง

การวางซั้งทางมะพร้าว เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ทะเล

 

แต่ด้วยแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ประเทศมีความทันสมัยตั้งแต่ปี 2504 ทำให้เกิดปัญหาที่มาพร้อมกับการพัฒนาดังกล่าว ก็คือปัญหาความเหลื่อมลํ้าของการกระจายรายได้ ปัญหาการทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแทบทุกชุมชนในสังคมไทย

เช่นเดียวกับชุมชนมัจฉาสตรีท ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งเดิมมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ มีแนวปะการังที่งดงาม ปัจจุบันความเป็นชุมชนเริ่มแปรสภาพไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในปัจจุบันทรัพยากรที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเสื่อมโทรมไปอย่างรวดเร็ว จนชาวประมงบางส่วนออกจากพื้นที่เพื่อขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม


 

 

นอกจากนี้ชุมชนเองยังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ปัญหาขยะทะเลและปัญหาปะการังฟอกขาว โดยบริเวณชายฝั่งทะเลของชุมชนมัจฉาสตรีทมีลักษณะเป็นปากอ่าว ทำให้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ของแต่ละปีจะมีขยะถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์นํ้าตั้งแต่แพลงก์ตอนไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างวาฬมีจำนวนลดลง เนื่องจากการได้รับผลกระทบจากการกินขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะขยะพลาสติก นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งล่าสุดในปี 2561 ยังพบว่าจังหวัดชุมพรยังเป็นพื้นที่ที่มีการพบปะการังฟอกขาว บริเวณที่พบคือเกาะง่ามน้อย ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ชุมชนมัจฉาสตรีท

 

มัจฉาสตรีท  กับการจัดการทรัพยากรประมง

เค้กปะการังเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ทะเล

 

 

ชุมชนมัจฉาสตรีทได้กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่สำคัญที่ได้ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ที่มาของคำว่ามัจฉาสตรีทนั้น เริ่มต้นจากกิจกรรมปล่อยซากรถประจำทางลงสู่ท้องทะเล เพื่อต้องการสร้างปะการังเทียมและที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ในท้องทะเล โดยคำว่ามัจฉาหมายถึงปลาและสัตว์นํ้าในทะเล ส่วนคำว่าสตรีตหมายถึงถนน และเมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันเป็นคำว่ามัจฉาสตรีทจะหมายถึงถนนของปลาและสัตว์ในท้องทะเล กิจกรรมดังกล่าวเกิดจากแรงศรัทธาที่ต้องการจะฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงของคนในชุมชนซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตการปกครองของเทศบาลตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

 

มัจฉาสตรีท  กับการจัดการทรัพยากรประมง

ซากรถประจำทางสำหรับสร้างปะการังเทียม

 

มูลเหตุที่ชุมชนมัจฉาสตรีทได้กลายเป็นชุมชนต้นแบบนั้น สืบเนื่องจากปัญหา ต่างๆ ที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ ทำให้คุณณรงค์ ม่วงทองคำ ชาวประมงพื้นบ้านและนักอนุรักษ์ที่ชื่อ ..สถาพร สกลทัศน์ รน. เริ่มสนใจที่จะศึกษาสาเหตุของปัญหาและเพื่อต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลที่กำลัง ประสบกับปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนเป็นท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์

โดยได้รวบรวมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อค้นหาแนวทางการจัดการชุมชนเพื่อแก้ไขและรับมือกับปัญหา โดยได้คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและจัดทำโครง การต่างๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยซากรถประจำทางลงสู่ท้องทะเล การทำเค้กปะการังเพื่อสร้างปะการังเทียม และการทำซั้งบ้านปลาจากทางมะพร้าวเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ในท้องทะเล

 

 

นอกจากนี้ คนในชุมชนยังมีแนวคิดของการพึ่งตนเอง และต้องการที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารรวมถึงความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดตั้งกลุ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงปะทิว เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการจัดตั้งโครงการโรงรับจำนำปู เพื่อฟื้นฟูและเพาะพันธุ์ทรัพยากรสัตว์นํ้า จนในปัจจุบันทรัพยากรประมงในทะเลบริเวณชุมชนมัจฉาสตรีทเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์และสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อีกครั้ง

ถึงแม้ว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนมัจฉาสตรีทจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคมไทยและสังคมโลก แต่เราสามารถมองเห็นได้ว่าการจัดการชุมชนและการทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูท้องทะเลและชายฝั่งนั้น สามารถทำได้และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือกับผลกระทบอันเกิดจากการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ปัญหาเหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังไม่สายเกินไปสำหรับชุมชนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันอยู่ องค์ความรู้ที่มี ความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณคุณกัญญ์ชิตา ขาวแปลก สำหรับการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้