อีอีซีต้องเร่งจัดหาน้ำ ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน

25 ม.ค. 2563 | 12:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3543 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 ม.ค.2563

 

อีอีซีต้องเร่งจัดหาน้ำ

ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน

 

     เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่รัฐบาลหมายมั่นให้เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น จากปริมาณนํ้าสะสมใน 5 อ่างเก็บนํ้าหลัก ได้แก่ หนองปลาไหล บางพระ ดอกกราย หนองค้อ และคลองใหญ่ ที่ป้อนนํ้าดิบให้กับอีอีซีเป็นหลัก ลดระดับต่ำกว่า 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับที่วิกฤติที่จะต้องสูบผันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าประแสร์และสูบนํ้าจากแม่นํ้าบางปะกง เข้ามาเติม แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยภาวะวิกฤตินํ้าได้

     มาตรการเบื้องต้นที่ภาครัฐหรือกรมชลประทาน ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ขอให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ควบคุมปริมาณการจ่ายนํ้ารายวันจากอ่างเก็บนํ้าดอกกราย หนองปลาไหล และประแสร์ รวมกันได้ไม่เกินวันละ 6.5 แสนลูกบาศก์เมตร จนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2563 จากปี 2562 ที่อีสท์วอเตอร์เคยจ่ายนํ้าดิบเฉลี่ยที่ 7.7 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน  ซึ่งส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรม และลูกค้าที่อยู่นิคมอีอีซี ต้องลดการใช้นํ้าลง 10 % จากปริมาณที่เคยใช้ด้วย

 

     สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่าจากปริมาณนํ้าสะสมที่มีอยู่ใน 5 อ่างเก็บนํ้าดังกล่าว พอประคองปริมาณนํ้าใช้ไปได้ถึงเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา สทนช.ได้เสนอแนวทางแก้ไขระยะสั้นหากฝนทิ้งช่วง โดยที่จะผันนํ้าจากที่ต่างๆ มาเติมอ่างอีกราว 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

     วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้น เอกชนที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีได้สะท้อนว่า การจัดหานํ้าตามความต้องการใช้นํ้าในนิคม เป็นปัญหาใหญ่เกินกว่ากำลังที่นิคมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และหากถึงวิกฤติรุนแรงกว่านี้ อุตสาหกรรมทั้งหมดในพื้นที่ชลบุรีและระยอง ซึ่งใช้แหล่งนํ้าเดียวกันทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องเตรียมแผนงานรับมือไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม โดยเฉพาะในปีนี้ มีสัญญาณว่าภัยแล้งในอีอีซีมีแนวโน้มจะรุนแรงเพิ่มขึ้น จากฝนที่จะมาล่าช้าหรือตกในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ ที่จะมีฝนตกน้อยในพื้นที่อีอีซีทุก 5-6 ปี

     ดังนั้นแผนการพัฒนาแหล่งนํ้ารองรับอีอีซีระยะยาว ปี 2563-2580 จำนวน 38 โครงการ วงเงินกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ที่คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบไปแล้ว ที่จะเพิ่มนํ้าต้นทุนให้ได้ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสิ้นสุดแผนจะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตามที่รัฐบาลคาดไว้ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วนักลงทุนก็จะหันไปลงทุนประเทศที่เป็นคู่แข่งกับไทยแทน