การทรยศความไว้วางใจประชาชน กับความเสียหายทางศก.

25 ม.ค. 2563 | 04:30 น.

นาทีนี้หากนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2547 กรณีส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนโหวตพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาเทียบเคียงกับกรณีมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทน ส.ส.พรรคภูมิใจไทยโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 มีความเสี่ยงอย่างมากที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เป็นโมฆะ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อดูจากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญก่อนหน้าในคดีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าการที่ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนกันนั้น เป็นการ “ทรยศความไว้วางใจของประชาชน”

ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนในคำวินิจฉัยที่สำคัญในคดีการออกพ.ร.บ.เงินกู้ว่า“การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศ จากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แล้ว ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริต ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123

และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรคสามที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวน การออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงถือว่า มติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

 

การทรยศความไว้วางใจประชาชน  กับความเสียหายทางศก.


 

การกระทำดังกล่าวนอก จากเข้าข่ายทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงงบ ประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ต้องล่าช้าออกไปอีก หลังจากล่าช้ามาแล้วเกือบ 4 เดือน จากปกติที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากการกระทำดังกล่าว ยังสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจของไทยที่ไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีนี้เมื่อใด และผลจะออกมาอย่างไร แม้จะมีการประเมินว่าหลังมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ตามกระบวนการของศาลจะใช้เวลาเร็วที่สุดในการพิจารณาประมาณ 15 วัน และอย่างช้าที่สุดประมาณ 2 เดือน

 

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ภาคเอกชนจะออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ บางรายถึงขั้นฟันธงได้ทันทีว่าเศรษฐกิจประเทศจะพังพินาศ หากรัฐบาลมีเพียงแต่งบประจำรายจ่ายที่จำเป็น ไม่มีงบลงทุนผลักดันโครงการใหม่ๆ เพราะไม่เกิดการหมุนเวียนของเงิน

ยิ่งเจาะลึกลงไปในโครงสร้างงบประมาณปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท จะพบว่างบประมาณที่จะกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้าคือรายการงบลงทุน ซึ่งมีวงเงินรวมกันทั้งสิ้น 644,425.69 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุนใหม่ทั้งสิ้น 435,108.34 ล้านบาท จะถูกแช่แข็งทั้งก้อน นอก จากนี้ยังมีในส่วนของงบ ผูกพันที่ได้ว่าจ้างเอกชนไปก่อนหน้านี้และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการก็จะยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้เช่นกัน แม้ว่าเอกชนจะก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็ตาม

ถึงตรงนี้อาจกล่าวได้ ว่ากรณีที่เกิดขึ้น นับการทรยศความไว้วางใจของประชาชน ที่ไม่อาจประมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563