สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ประวัติศาสตร์การประมูล(51)

23 ม.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3542 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 ม.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ


สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
ประวัติศาสตร์การประมูล(51) 



          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด และเป็นบทความที่ยาวที่สุด
          กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งคือกลุ่มบีบีเอสจึงชนะประมูลไป แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี 
          สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามเรื่องสัญญาใน (2) กรณีสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
          ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเช่า เช่าช่วง หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนและไม่ว่าจะเป็นช่วงหนึ่งหรือหลายช่วง) ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯและ/หรือบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่พื้นที่ดังกล่าว รฟท.จะสวมสิทธิเอกชนคู่สัญญาเพื่อรับโอนสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ในสัญญาดังกล่าวได้/จนกระทั่งสิ้นสุดสัญญานั้น ตามข้อกำหนดในข้อ 16.1(4)(ข)2)ค) 
          ในกรณีดังกล่าว เอกชนคู่สัญญา ไม่ต้องรื้อถอนบรรดาทรัพย์สินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
          ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ดังต่อไปนี้
          (ก) โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ซึ่ง รฟท.ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ให้แก่ รฟท.ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 7 (แผนการส่งมอบทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้) ภาคผนวกหมายเลข 3 (แผนการส่งมอบทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ กรณีส่งมอบทรัพย์สินก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) โดย รฟท.จะต้องชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2
          (ข) ส่งมอบทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 7 (แผนการส่งมอบทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้) ภาคผนวกหมายเลข 3 (แผนการส่งมอบทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ กรณีส่งมอบทรัพย์สินก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) โดย รฟท.จะชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2

          ทั้งนี้ ทรัพย์สินดังกล่าวอย่างน้อยต้องอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสมบูรณ์ เหมาะสม ตามอายุการใช้งานภายใต้การบำรุงรักษาตามมาตรฐานและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากการชำรุดบกพร่อง (เว้นแต่การเสื่อสภาพจากการใช้งานตามปกติ) การรอนสิทธิและภาระผูกพันใดๆ เพื่อให้ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.กำหนด สามารถดำเนินการพัฒนาทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
          (ค) ต้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(12)และข้อ 16.1(13) และ
          (ง) เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุนต้องรื้อถอนบรรดาทรัพย์สินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (นอกเหนือจากทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31.2(2)(ก)และ(ข) ไม่ว่าจะมีการก่อสร้างหรือติดตั้ง หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือการติดตั้งพร้อมทั้งส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ ที่ รฟท.เป็นเจ้าของหรือจัดหาภายใต้สัญญาร่วมลงทุนให้แก่ รฟท.ในสภาพที่ รฟท.สามารถเข้าใช้ดำเนินงานต่อได้โดยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาทั้งสิ้น
          32. การใช้เรือไทย ในการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน หากเอกชนคู่สัญญาจะต้องสั่งหรือนำเข้าของมาจากต่างประเทศรวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานตามสัญญาร่วมลงทุน ไม่ว่าเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้ที่นำของเข้ามาเอง หรือนำเข้ามาโดยผ่านตัวแทนหรือบุคคลอื่นใด ถ้าสิ่งของนั้นต้องนำเข้ามาโดยทางเรือในเส้นทางเดินเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด เอกชนคู่สัญญาจะใช้ความพยายามอย่างสมเหตุสมผลในการจัดการให้สิ่งของดังกล่าวบรรทุกโดยเรือไทยหรือเรือที่มีสิทธิเช่นเดียวกับเรือไทย จากต่างประเทศมายังประเทศไทย 
          เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อนบรรทุกของนั้นลงเรืออื่นที่มิใช่เรือไทย หรือเป็นของที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศยกเว้นให้บรรทุกโดยเรืออื่นได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าการสั่งหรือสั่งซื้อของดังกล่าวจากต่างประเทศจะเป็นแบบใด
          ในการส่งมอบงานตามสัญญาร่วมลงทุนให้แก่ รฟท.ถ้างานนั้นมีสิ่งของตามวรรคแรก เอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบใบตราส่ง (Bill of Lading) หรือสำเนาใบตราส่งสำหรับของนั้น ซึ่งแสดงว่าได้บรรทุกมาโดยเรือไทย หรือเรือที่มีสิทธิเช่นเดียวกับเรือไทยให้แก่ รฟท.พร้อมกับการส่งมอบงานด้วย
          ในกรณีที่สิ่งของดังกล่าวไม่ได้บรรลุจากต่างประเทศมายังประเทศไทยโดยเรือไทยหรือเรือที่มีสิทธิเช่นเดียวกับเรือไทย เอกชนคู่สัญญาต้องส่งมอบหลักฐานซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้บรรทุกของโดยเรืออื่นได้ หรือหลักฐานซึ่งแสดงว่าได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษเนื่องจากการไม่บรรทุกของโดยเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ รฟท.ด้วย

          33. การใช้แรงงานไทย เอกชนคู่สัญญาต้องจัดให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของ รฟท. โดยอย่างน้อยต้องจัดให้มีบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงบุคลากรหลักด้านเทคนิค 
          เว้นแต่งานใดที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ซึ่งเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถจัดหาคนไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้นมาทำงานได้ เอกชนคู่สัญญาอาจให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญจากต่างประเทศมาทำงานแทนได้ แต่เอกชนคู่สัญญาต้องจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ความชำนาญให้บุคคลสัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์และวิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามข้อ 22
          สัญญาในหมวดนี้ควบคุมเรื่องการเช่าช่วง การว่าจ้างคนไทยให้ทำงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยล้วนๆครับ!

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (50)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (49)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (48)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (47)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (46)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (45)