มองเวียดนาม ในบทบาทประธานอาเซียนปี 2020

22 ม.ค. 2563 | 03:40 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563

 

 

4 พฤศจิกายน 2019 เราได้เห็นภาพนายกรัฐมนตรีไทย พล.. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งมอบฆ้อนไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องให้กับ นายกรัฐมนตรี เหวียน ฝู จ่อง แห่งประเทศเวียดนาม และเวียดนามจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2020 ภายใต้แนวคิดCohesive and Responsive” หรือ แปลเป็นไทยว่า อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวกันและสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที

ซึ่งแน่นอนว่าจากความสำเร็จหลากหลายมิติของการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ย่อมสร้างความคาดหวังว่าหลายๆ เรื่องที่ได้เริ่มต้นไว้แล้วจากการเป็นประธานของสิงคโปร์ ต่อด้วยประเทศไทย จะได้รับการสานต่อโดยประธานในปี 2020

บทความนี้เรามาลองทบทวนกันว่า มีประเด็นอะไรบ้าง ที่เราต้องจับตามองเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปี 2020

1. ปี 2020 ถือเป็นปีสำคัญยิ่งของเวียดนามเนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 25 ปี ของการเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนาม โดยเวียดนามเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจภายในนโยบายโด่ยเหมย (Doi Moi) ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และแสดงเจตจำนงการเป็นสมาชิกาอาเซียนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และได้รับสถานะสมาชิกในปี 1995 ดังนั้นปี 2020 จึงเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของการเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนาม

2. ปี 2020 ถือเป็นครึ่งทางของการขับเคลื่อนอาเซียนตามวิสัยทัศน์ อาเซียน 2025 ซึ่งเริ่มต้นในปี 2015 นั่นหมายความว่าปี 2020 จะต้องมีการทำ Midterm Review หรือการประเมินความก้าวหน้าของโครงการและเป้าหมายต่างๆ ที่วางเอาไว้ในพิมพ์เขียวหรือ Blueprint ของทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ทั้งประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน

3. หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วในวาระที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียนในปี 2010 ในคราวนั้นสิ่งที่ทุกคนจับตามองเป็นอย่างยิ่งก็คือ มิติทางด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากในปีนั้น ข้างสหรัฐอเมริกาภายใต้การดำเนิน นโยบายต่างประเทศที่ควบคุมดูแลโดย คุณฮิลลารี คลินตัน ประกาศยุทธศาสตร์ Freedom of Navigation ในทะเลจีนใต้เป็นยุทธศาสตร์หลักด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก

 และนั่นส่งแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงไปยังมหาอำนาจจีนที่ขยายอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ดัง กล่าว และยังมีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทับซ้อนโดยตรงกับประเทศเวียดนามอีกด้วย และกลไกสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ ADMM+ หรือการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนทั้ง 10 ประเทศกับคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

 

มองเวียดนาม  ในบทบาทประธานอาเซียนปี 2020


 

 

ดังนั้นในปี 2020 ที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน (ในนามความริเริ่มแถบและเส้นทาง Belt and Road Initiatives: BRI) สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย บทบาทของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนที่ต้องสานต่อความสำเร็จของประเทศไทยในการออก ASEAN Outlook on the Indo- Pacific (AOIP) จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องจับตา

4. ปี 2019 ประเทศไทยในฐานะประธาน สามารถหาข้อสรุปของการเจรจากรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือ RCEP หรือ ASEAN+6 ไปได้แล้ว โดยมีการสรุปผลเจรจาไว้ดังนี้สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และ การเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป

นั่นหมายความว่าในปี 2020 ภายใต้การเป็นประธานของอาเซียน สายตาทุกคู่จะจับจ้องมองดูว่าเวียดนามจะมีบทบาทอย่างไรในการบริหารจัดการกับประเด็นคงค้างของอินเดียเพื่อนำไปสู่การลงนามของ RCEP ที่มีสมาชิกทั้ง 16 ประเทศได้อย่างสมบูรณ์

 

 

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า เวียดนามในฐานะประธานการประชุมต้องเร่งผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากเวียดนามคือประเทศที่วางตำแหน่งของตนเองให้เป็นจุดศูนย์กลางหรือสะพานเชื่อมของข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ ที่ทุกฉบับเวียดนามต้องเป็นสมาชิก เพื่อให้ทุกบริษัทที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนในเวียดนามสามารถค้าขายกับทุกประเทศได้ด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากข้อตกลงต่างๆ เวียดนามเป็นสมาชิก CPTPP ที่นำโดยญี่ปุ่นและพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกับ ASEAN และสหภาพยุโรป (หรือฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก)

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ RCEP ที่มีอินเดียเป็นสมาชิก และเป็นพี่ใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย ก็จะยิ่งทำให้เวียดนามวางตำแหน่งตนเองในฐานะสะพานเชื่อม FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นเวียดนามคงพยายามผลักดันและเร่งให้การลงนามเกิดขึ้นโดยมีอินเดียเข้าร่วม เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ตอนนี้ก็ออกมาผลักดันอย่างยิ่งที่จะให้อินเดียเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของ RCEP

และท้ายที่สุด ความท้า ทายที่สุดของการเป็นประธานอาเซียนก็คือ การทำให้การขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกมิติให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชนอาเซียนทั้ง 655 ล้านคนใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรามีความสัมพันธ์กันในทุกมิติและในทุกระดับ