จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องไม่มี2มาตรฐาน

18 ม.ค. 2563 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3541 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 ม.ค.63

 

จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ต้องไม่มี2มาตรฐาน

 

     คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ให้บริษัทกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (CP) และพันธมิตร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ากลุ่มซีพี กลับเข้าสู่กระบวนการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ เปิดรับพิจารณาเอกสารกล่อง 6 (ซอง 2) และเอกสารกล่อง 9 (ซอง 3) ที่กลุ่มยื่นเกินเวลาไป 9 นาที ของกลุ่มซีพี มาพิจารณา กำลังกลายเป็นที่กังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหลังจากนี้

     ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สะท้อนมุมมองและตั้งคำถาม พร้อมแสดงความกังวลไว้อย่างน่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการประมูลงานภาครัฐใน 4 ประเด็น ดังนี้

 

     1.จากนี้ไปการมายื่นประมูลเลยกำหนด อาจเป็นเรื่อง สีขาว สีเทา หรือสีดำก็ได้ เพราะคนที่ทำผิดกติกาย่อมสามารถอ้างแนวคำตัดสินจากคดีนี้ ไปร้องต่อศาลปกครอง ง่ายกว่านั้นคือ ขอให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของโครงการนั้นๆ “ใช้ดุลพินิจ” ว่า พฤติกรรมแบบใดที่ตนทำไปหรือเอกสารใดที่ตนยังไม่ได้ยื่น แต่ให้ถือว่ายอมรับได้หรือให้รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของการประมูล เหตุนี้ย่อมทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหายจากการหยุดชะงักล่าช้าออกไป

     2. ข้าราชการจะมีอำนาจในการ “ใช้ดุลพินิจโดยไร้กรอบกติกาที่ชัดเจน” เสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติและคอร์รัปชัน เพราะหลักเกณฑ์หรือแนวทางในเรื่องแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมาย ข้อกำหนดหรือระเบียบใดๆ

     3.การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ต้องการให้ใช้กติกาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ มีการแข่งอย่างเท่าเทียม เปิดเผย และโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 

     4. ผลของการมีอำนาจใช้ดุลพินิจแบบนี้ข้าราชการที่ดีและตั้งใจให้งานสำเร็จ จะเป็นทุกข์เพราะเสี่ยงติดคุก หากถูกร้องเรียนจากผู้เสียประโยชน์และถูกตรวจสอบจากต้นสังกัด หรือ ป.ป.ช. และ สตง. ส่วนข้าราชการที่ฉ้อฉลและพ่อค้าผู้มีอิทธิพล เส้นสาย จะชอบใจเพราะเปิดช่องให้ช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ โดยเฉพาะเมื่อแอบล่วงรู้ข้อมูลของผู้ยื่นประมูลคนอื่นๆ จึงต้องดูว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จะทำให้ถูกต้องและชัดเจนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายในอนาคต

     เราเห็นว่ารัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ามีประเด็นอะไรของศาลปกครองสูงสุดกระทบ หรือไม่ตรงกับกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้การประมูลงานภาครัฐ ไม่เป็น 2 มาตรฐา