ผ่ามันสมองแบงก์ชาติ ขุนศึกผู้กุมชะตาค่าเงินบาท

18 ม.ค. 2563 | 03:30 น.

 

ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือที่เรียกกันติดปากว่าแบงก์ชาติ ก็ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนัก

เมื่อดูรายละเอียดคำชี้แจงสถานการณ์ค่าเงินบาทของนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวในงาน Media Briefing วันที่ 14 มกราคม 2563 จะพบว่าประเด็นสำคัญที่แบงก์ชาติพยายามอธิบายต่อสาธารณะคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า

ความเข้าใจว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2562 แล้วเป็นการไหลออก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

นอกจากนี้ที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็ได้เข้าไปบริหารจัด การอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ด้วยการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาท แต่การการบริหารจัดการค่าเงินต้องให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว เพราะค่าเงินบาทแข็งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ การแก้ปัญหาค่าเงินบาท ต้องแก้ไขให้ตรงจุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชน


 

 

คงต้องยอมรับว่าตามโครงสร้างการทำงานของแบงก์ชาติเมธีคือผู้ที่มีบทบาทดูแลการแก้ปัญหาค่าเงินบาทโดยตรง เพราะเป็นสายงานหลักที่เกี่ยวข้องการดูแลค่าเงินบาท การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ การดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน มี นางสาววชิรา อารมย์ดี-ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส-ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส เป็นมันสมองสำคัญ

 “เมธี สุภาพงษ์เติบโตมาจากสายนโยบายการเงินโดยตรง ในปี 2553-2557 เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินสายนโยบายการเงิน ก่อนขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินในปี 2557 จากนั้นอีก 1 ปีก็ก้าวขึ้นเป็นรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน

เมธีจบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์การเงิน London School of Economic and Political Sciences University of London, U.K. ปริญญาโท บริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา Center for Development Economics, Williams Collage ประเทศสหรัฐฯ

 

ผ่ามันสมองแบงก์ชาติ  ขุนศึกผู้กุมชะตาค่าเงินบาท

 

สำหรับการทำงานในสายงานภายใต้การกำกับดูแลเมธี จะแบ่งออกเป็น 2 สายงานหลักๆ โดยแต่ละสาย งานจะมีผู้ช่วยผู้ว่าการเป็นผู้กำกับดูแลต่ออีกชั้นหนึ่ง

สายงานแรกคือสายตลาดการเงิน มีนางสาววชิราอารมย์ดี เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรอง ตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีนางสาววงจันทร์ ศรีเปารยะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารเงินสำรอง นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน และนางวรรณพร ลักษณะสุต ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงินเป็นมันสมอง

 

 

สายงานที่ 2 ได้แก่ สายนโยบายการเงิน มี ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ เป็นแม่ทัพใหญ่ที่ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน มีขุนพลสำคัญ ประกอบด้วย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน และนายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

ส่วนดร.รุ่ง มัลลิกะมาส เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ​สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร สายงานนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายเมธี​ แต่ภารกิจสำคัญคือการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและการผลักดันยุทธศาสตร์องค์กร​ นับเป็นอีกสายงานที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะข้อมูลให้กับกนง.ใช้ตัดสินใจนโยบายการเงิน

ดร.รุ่ง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Harvard University ประเทศสหรัฐฯ และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Massachusetts Institute of Technology จากสหรัฐฯ เช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือมันสมองสำคัญในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทและนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563