เมื่อมังกรหลุดพ้น จากความยากจน (1)

18 ม.ค. 2563 | 02:00 น.

 

คอลัมน์  มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563

 

หนึ่งในเป้าหมายหลักในปีนี้ที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญก็คือ การทำให้คนยากจนหมดสิ้นไปจากแผ่นดินจีนคำถามที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลจีนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และหากเกิดขึ้นได้จริง ก็เกิดคำถามที่ใหญ่กว่าก็คือ จีนทำได้อย่างไร

เพราะหากมองย้อนหลังไป 70 ปีนับแต่ยุคก่อตั้งประเทศ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และอาจกล่าวได้ว่า คนจีนเกือบทั้งประเทศจำนวนหลายร้อยล้านคนมีฐานะยากจน หรือหากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศเปิดจีนสู่โลกภายนอกครั้งใหม่ราว 40 ปีก่อน จีนก็ยังยากจนและล้าหลังกว่าไทยมาก!

 

ทำไมจีนใส่ใจกับปัญหาความยากจน

เมื่อครั้งประกาศเปิดประเทศสู่โลกภายนอกครั้งใหม่ ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่าความยากจนไม่ใช่ระบอบสังคมนิยมนับแต่นั้นเป็นต้นมา จีนก็เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจังผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปีในช่วง 4 ทศวรรษต่อมา

ภายหลังความสำเร็จในช่วง 30 ปีแรกหลังการเปิดประเทศที่พึ่งพาภาคการต่างประเทศและการลงทุนของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ รัฐบาลจีนก็ตระหนักดีถึงความผันผวนและเปราะบางของเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 ปีหลัง จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนโรงงานของโลกไปเป็นตลาดของโลกและยกระดับจีนให้ก้าวข้ามสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต

เราสังเกตเห็นการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่าง เป็นจำนวนมากเพื่อสร้างเวทีใหม่ให้แก่ภาคธุรกิจ และความกินดีอยู่ดีให้แก่พี่น้องชาวจีน อันส่งผลให้ภาคการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีน และลดระดับการพึ่งพาภาคการต่างประเทศในเชิงเปรียบเทียบ

แต่ความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม และการเสริมสร้างรากฐานทางการเมืองและสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยมก็คือ ทำอย่างไรจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และจะยกระดับฐานะความเป็นอยู่และขจัดความยากจนให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดิน

ในปลายปี 2012 รัฐบาลจีนได้เริ่มประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน และตั้งเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนของภาคประชาชนให้หมดสิ้นภายในสิ้นปี 2020 นับแต่นั้นมา รัฐบาลจีนก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งสะท้อนผ่านคำกล่าวของท่านสี จิ้นผิงเมื่อปีที่ผ่านมาว่าเราจะไม่ทิ้งคนยากจนไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียวทั้งที่ตอนนั้น จีนยังมีคนยากจนอยู่อีกกว่า 10 ล้านคน


 

 

โอกาสความสำเร็จ...ท้าทายยิ่ง

ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว จีนเผชิญกับความท้าทายในหลายระดับ ประการแรก จีนมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก จำนวนคนยากจนที่มากมายดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลานาน ซึ่งนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่มากขึ้นและสูงขึ้นโดยลำดับ เหล่านี้กลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับรัฐบาลจีน

คนยากจนในยุคหลังเรียกร้องมากกว่าปัจจัย 4 และยังสูงขึ้นในเชิงคุณภาพ เราจึงเห็นคนยากจนของจีนในปัจจุบันไม่เพียงแค่เรียกร้องหลังคาบ้านเพื่อกันแดดฝน อาหารประทังชีวิต เสื้อผ้ากันหนาว และบริการรักษาพยาบาล แต่ยังเรียกร้องไปถึงการกำหนดเส้นแบ่งความยากจนที่สูงขึ้น และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ อาทิ การศึกษาภาคบังคับ บริการสาธารณสุข และการประกันสังคม

 

เมื่อมังกรหลุดพ้น  จากความยากจน (1)

 

ประการถัดมา คนยากจนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท มีระดับการอ่านออกเขียนได้น้อย และกระจัดกระจายทั่วประเทศอันกว้างใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางและด้านซีกตะวันตกของประเทศ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่แตกต่างกันมาก แถมพื้นที่ด้านซีกตะวันตกก็มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยอยู่น้อย แต่กลับมีจำนวนและระดับความยากจนอยู่สูง เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงระดับความซับซ้อนของปัญหาที่มีอยู่

ยิ่งเมื่อพิจารณาระดับความเจริญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันก็พบว่า เส้นแบ่งความยากจนที่จีนกำหนดไว้ที่ ปีละ 2,300 หยวน เมื่อปี 2010 และปรับขึ้นเป็นระยะตามความเท่าเทียมด้านกำลังซื้อ โดยอยู่ที่ 4,000 หยวน สิ้นปี 2019 ก็ยังถือว่าตํ่าเกินไปสำหรับพื้นที่ด้านซีกตะวันออกที่มีค่าครองชีพสูง

ตัวอย่างเช่น มณฑลเจียงซู ซึ่งมีประชากรราว 80 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากมณฑลกวางตุ้ง และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็นอันดับต้น ของจีน กำหนดเส้นแบ่งความยากจนไว้ที่ 6,000 หยวน ซึ่งแม้จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่คนส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นการยากที่คนจะใช้ชีวิตในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมหากมีระดับรายได้ดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นประกาศว่า สิ้นปี 2019 มณฑลเจียงซูมีระดับการแก้ไขปัญหาความยากจนลุล่วงไปแล้ว 99.99% จากจำนวน 16.6 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2018 เหลือเพียง 17 คนใน 6 ครัวเรือน ก็นำไปสู่กระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์ที่ไม่อาจรักษามาตรฐานการครองชีพของตนเอาไว้ได้เช่นเดิม แต่ก็ยังมีระดับรายได้ไม่ตํ่าพอที่จะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนยากจนเหล่านี้ยังมีความแตกต่างด้านเผ่าพันธุ์ เพศ ศาสนา และวัฒนธรรม บางส่วนก็ยังมีปัญหาความยากจน การเมืองทับซ้อนอยู่อีกด้วย อาทิ ทิเบต และซินเจียง ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องดำเนินโครง การที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ อาทิ การปลดล็อกข้อจำกัดส่วนแรกด้วยการเปิดให้คนในพื้นที่มีอิสระในการนับถือศาสนา และการเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเข้มข้นคู่ขนานกันไป

ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 รัฐบาลทิเบตได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บนหลักการและเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวทิเบตในเมืองกว่า 10% และในชนบท 13% จากปีก่อน และสร้างงาน 52,000 ตำแหน่ง ทำให้ในเมืองมีอัตราการว่างงานเหลือเพียงราว 3%

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลซินเจียงได้จัดสรรเงินกว่า 37,560 ล้านหยวนผ่านโครงการมากมายเพื่อการบรรเทาปัญหาความยากจน อาทิ การจัดหานํ้าดื่มสะอาดแก่คนยากจนในพื้นที่รวม 346,000 คน และที่พักปลอดภัย 9,355 ครัวเรือน ทำให้คนซินเจียงจำนวน 645,000 คน ก้าวข้ามเส้นแห่งความยากจน อัตราคนยากจนลดจาก 6.1% เมื่อปีก่อน เหลือ 1.2% เมื่อสิ้นปี 2019

โดยสรุป ในภาพรวมรัฐบาลจีนช่วยให้ประชาชนราว 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 20 ล้านคนต่อปี คิดเป็นจำนวนรวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด หรือมากกว่าจำนวนประชากรของยุโรปทั้งทวีป และหากนับเฉพาะช่วง 5 ปีในเทอมแรกของท่านสี จิ้นผิง ก็พบว่า จีนทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจนราว 37,000 คนต่อวัน

แน่นอนว่า จำนวนดังกล่าวมากกว่าที่ประเทศใดๆ ในโลก สามารถทำได้ในประวัติศาสตร์โลก คิดเป็นกว่า 70% ของจำนวนโดยรวมของโลก ส่งผลให้องค์กรสหประชาชาติซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า พลอยได้รับผลงานชิ้นโบแดงจากความสำเร็จดังกล่าวไปด้วย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวนรถไฟความเร็วสูงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน