ภัยแล้งลามไร่อ้อย ชาวไร่ทุกข์หนักปัจจัยลบรุมกระหน่ำ

16 ม.ค. 2563 | 08:37 น.

 

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)กดปุ่ม เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิต 2562/2563 ในอัตรา 750 บาทต่อตันอ้อยไปเมื่อเร็วๆนี้   ก็มีเสียงบ่นหลังบ้านในกลุ่มชาวไร่อ้อยทำนอง ภาครัฐ กดปุ่มล่าช้า เสนอไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงราคาอ้อยขั้นต้นจะต้องพิจารณาก่อนเปิดหีบ (เริ่มเปิดหีบในช่วงเดือนพ.ย.2562ถึงพ.ค.2563) 

 

ปัญหาราคาอ้อยเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะราคาร่วงต่อเนื่อง  อีกทั้งฤดูการผลิตอ้อยปี 2562/2563  ปัจจัยลบรุมกระหน่ำพร้อมกัน 4 ด้านหลัก

 

ไล่เรียงตั้งแต่  1.ราคาอ้อยร่วง 3 ปีต่อเนื่อง จากที่ก่อนหน้านั้นราคาอ้อยต่อตันไต่ระดับตั้งแต่ 1,000 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป  ล่าสุดเห็นชัดเจนครม.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750 บาท/ตันอ้อย ที่ค่าความหวาน 10  ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับ 97.91 % ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ (ที่ 66.01 บาท/ตันอ้อย) และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 45 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เท่ากับ 321.43 บาท/ตันอ้อย   ราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศครั้งนี้มองในแง่ระบบอ้อยและน้ำตาลก็น่าจะรับกันได้   แต่ถ้ามองในแง่ต้นทุน  บรรดาชาวไร่อ้อย กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าขาดทุนยับเยิน เพราะราคาอ้อยขั้นต้นที่ 750 บาทต่อตันอ้อยนั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับ เพราะปี2562/2563 ต้นทุนชาวไร่อ้อยยืนอยู่ที่ 1,111 บาทต่อตันอ้อย 

 

2.ปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปี  ทำให้ผลผลิตอ้อยร่วง ปี2560/2561 มีผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 134 ล้านตันอ้อย ปี2561/2562 ผลผลิตอ้อยลงมาที่ 130.9 ล้านตันอ้อย  และปี2562/2563 คาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยจะลงมาอยู่ที่ 90-93 ล้านตันอ้อย   ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงตัดอ้อยเพื่อนำส่งโรงงานน้ำตาลหรืออยู่ในช่วงเปิดหีบ ซึ่งปีนี้อาจจะปิดหีบเร็วกว่าปกติเนื่องจากมีผลผลิตอ้อยลดลง (เดิมระหว่างเดือนพ.ย.ไปถึงเดือนพ.ค.ของอีกปีจะเป็นช่วงเปิดหีบ  แต่ปีนี้ระยะเวลาจะสั้นลงหรือเปิดหีบตั้งแต่ พ.ย.2562ถึงกลางเดือนมี.ค.2563

 ภัยแล้งลามไร่อ้อย  ชาวไร่ทุกข์หนักปัจจัยลบรุมกระหน่ำ

3.ราคาน้ำตาลโลกร่วงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลดิบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายืนอยู่ที่ระดับ 11-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ เปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้น ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเคยสูงถึง 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ การที่ราคาน้ำตาลดิบร่วงก็มีผลต่อการคำนวนรายได้เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาล


   ภัยแล้งลามไร่อ้อย  ชาวไร่ทุกข์หนักปัจจัยลบรุมกระหน่ำ

4.เกษตรกรยังไม่สามารถลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ได้  ซึ่งเรื่องนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี(11 มิ.ย.62) ครม.มีมติเห็นชอบแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30 % ต่อวัน  สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20 % ต่อวัน  และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5 % ต่อวัน  ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี  ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นภาระต้นทุนที่สูง เนื่องจากการตัดอ้อยโดยเครื่องจักร หรือใช้แรงงานล้วนมีต้นทุนที่สูง ในขณะที่ราคาอ้อยยังร่วงต่อเนื่อง และยังมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมากแบกหนี้

 

-รอครม.เคาะช่วยปัจจัยการผลิต

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ  กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ก่อนหน้านี้รับรู้อยู่แล้วว่าราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่  750 บาทต่อตันอ้อย เห็นว่าไม่เพียงพอจึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาช่วยค่าปัจจัยการผลิตเหมือนปีก่อนๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในเบื้องต้นผ่านการเห็นชอบแนวทางการพิจารณาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในแง่ปัจจัยการผลิตที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐอาจจะจัดสรรเงินมาจากงบกลาง และชาวไร่อ้อยที่จะได้รับความช่วยเหลือก็จะมาจากชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนอ้อยไว้ มีอยู่ทั่วประเทศราว 340,000 ราย

 

“ความคืบหน้าเรื่องนี้ ตามขั้นตอนสำนักงานอ้อยจะชงเรื่องถึงรัฐมนตรี 3 กระทรวง คือกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสกรณ์ฯ ในฐานะรักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำชงพิจารณาในครม.เป็นลำดับต่อไป”

 ภัยแล้งลามไร่อ้อย  ชาวไร่ทุกข์หนักปัจจัยลบรุมกระหน่ำ

ชาวไร่อ้อยอีกราย  กล่าวด้วยความกังวลว่า  ขณะนี้สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาภัยแล้ง  เพราะมีไร่อ้อยอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  เป็นห่วงว่า เวลาตัดอ้อยแล้ว  ถ้าฝนไม่ตก อ้อยตอจะเสียหายมาก ทำให้ปีต่อไปปริมาณอ้อยยิ่งลดลงอีก  ซึ่งถึงเวลานั้นก็จะสวนทางกันคือผลผลิตอ้อยน้อย  ในขณะที่ราคาอ้อยอาจจะดีขึ้น  เหมือนราคาน้ำตาลดิบ  ถ้าปริมาณน้ำตาลดิบในตลาดโลกลดลง เพราะภัยแล้งจากที่มีปริมาณอ้อยน้อย  ราคาน้ำตาลดิบก็จะกลับมาดีดตัวดีขึ้นในปี2563/2564  ยอมรับว่าภัยธรรมชาติเป็นอุปสรรคมากในการปลูกอ้อย ทำให้ชาวไร่อ้อยไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้