วิบากกรรมรัฐบาล‘ลุงตู่’

16 ม.ค. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3540 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-18 ม.ค.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี


วิบากกรรมรัฐบาล‘ลุงตู่’    


          แม้ว่าคสช.จะได้ทำตามโรดแมปประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 จนสามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “ลุงตู่” ของหลานๆ ผันตัวเองจากหัวหน้า คสช. ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการสนับสนุนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งได้อีกวาระหนึ่ง ต่อเนื่องจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วจากการยึดอำนาจถึง 5 ปี ผลย่อมทำให้ประชาชนทั้งหลาย จะต้องอยู่กับรัฐบาล “ลุงตู่” ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี ถ้าหากไม่มีอันเป็นไปเสียก่อนครบวาระ
          การก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ลุงตู่” อีกครั้ง แม้จะได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง มาตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนหนึ่ง พรรค การเมืองฝ่ายค้าน และประชาชนที่เบื่อและไม่ชอบ “ลุงตู่” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต่างเร่งก่อกระแสต้าน และปลุกพลังคัดค้านต่อต้านรัฐบาลมาโดยต่อเนื่อง ด้วยข้อกล่าวหาว่า “เผด็จการ สืบทอดอำนาจ” หรือ “ออกแบบกำหนดรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางให้ตนเองมีอำนาจ”เป็นรัฐบาล 3 ป. เพื่อตนเองและพี่น้องตามมาด้วยสารพัด ข้อกล่าวหาในการบริหารบ้านเมือง
          ความดีทั้งหลายที่เข้ามาเพื่อคืนความสงบสุขแก่บ้านเมืองจนคลี่คลาย ถูกทำให้ค่อยๆ เลือนลางไปจากความรู้สึกของประชาชน ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลา 5 ปี ของคสช. จะได้กอบกู้วิกฤติทางการเมือง ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ หยุดความวุ่นวายจากความขัดแย้งในสังคม หยุดความไร้ขื่อแปรของบ้านเมือง และสภาพไร้การปกครอง จนแทบจะสิ้นชาติลงได้ก็ตาม ขบวนการต่อต้าน “ลุงตู่” ก็ไม่สนใจ ต่างเร่งทำงานโหมไฟทางการเมือง ปลุกคนที่ต่อต้านให้ออกมาแสดงพลังร่วมกันในทุกๆ วัน เพื่อล้มรัฐบาลลุงตู่ให้ได้
          ส่วนการเมืองในสภาฯ ฝ่ายค้านก็เปิดประเด็นโจมตีอย่างรุนแรง ตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ทำนองอภิปรายไม่ไว้วางใจกลายๆ จนทำให้ลุงต้องตัดพี่ตัดน้อง กับหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถึงขนาดท้ายิงกันในสภาครั้นเมื่อนำ ครม. ใหม่แถลงนโยบายก็โดนเล่นงานลองของกล่าวหาว่า “กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ” จนเป็นเรื่องราวถึงศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย จึงรอดพ้นมาได้
          เท่านั้นยังไม่พอ แม้จะสามารถผ่านพ้นการเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 โดยสภาฯ ให้ความเห็นชอบมาได้ ฝ่ายค้านก็จองกฐินเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รอกระทุ้งเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และโจมตีรัฐบาลในการบริหารบ้านเมืองในหลายประเด็น ส่วนจะฟังได้หรือไม่อย่างไรไม่สำคัญ แต่รัฐบาลก็มีแค่เจ๊งกับเจ๊า ฝ่ายค้านไม่มีอะไรสูญเสีย เพราะถ้าอภิปรายดีก็ได้แต้ม ไม่ดีก็เท่าทุนเท่านั้นเอง

          คู่ขนานไปกับเกมการเมืองในสภาฯ ขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ก็กำลังก่อกระแส บ่มกระแสไปเรื่อยๆ โดยมีพรรคอนาคตใหม่เป็นหัวหอก พรรคฝ่ายค้านอื่นหนุนหลัง ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมทางการเมือง และกลุ่มคนเสื้อแดงที่หลงเหลือ ผสมกลุ่มการเมือง “อดีตฝ่ายซ้าย” และผู้นิยมประชาธิปไตย กับปัญญาชนนักวิชาการ ที่ไม่ชอบรัฐบาลทหาร จุดประเด็นก่อกระแสไปเรื่อยๆ เพื่อไปให้ถึงกระแสสูงสุดคือ “ไล่รัฐบาลลุงตู่” อันเป็นเป้าหมายทางการเมืองสูงสุด 
          กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายร้อยกิจกรรมที่จะตามมา แนวรบทางการเมืองที่จะถาโถมเข้าใส่ “รัฐบาลลุงตู่” ยังจะมีตาม มาอีกหลายระลอกคลื่นจากนี้ไป เพราะกลุ่มคนที่ไม่พอใจลุง ไม่เอาลุงจะอย่างไรคงเปลี่ยนความคิดคนเหล่านี้ยาก เพราะได้ถูกฝังชิปทางความคิดไปแล้ว
          ปัญหาทั้งหมดคือ “วิบากกรรมของรัฐบาลลุงตู่” ครับ ปัญหาคือรัฐบาลจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร จะอยู่ในฐานะตั้งรับหรือจะชิงเป็นฝ่ายรุก เพราะต้องไม่ลืมว่า การเมืองเป็นหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่างหากรัฐบาลตกอยู่ในฐานะพ่ายแพ้ทางการเมือง คนส่วนใหญ่เห็นว่าหมดความชอบธรรมย่อมทำให้รัฐบาลอยู่ด้วยความยากลำบาก พ่ายแพ้ทางการเมืองได้ หากเตรียมทีมรับมือไม่ดี
          การที่พรรคฝ่ายค้านกลุ่มต้านรัฐบาล พวกเบื่อลุง ไม่เอาลุงอยากไล่ลุง เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดคนเหล่านั้นยากครับแต่สิ่งที่รัฐบาลลุงตู่ ทำได้ก็คือ จะทำอย่างไรให้คนที่รักลุง เชียร์ลุง ไม่เบื่อลุงไปด้วย ทำอย่างไรที่จะให้ “แนวร่วม กองหนุน” ยังยืนอยู่เคียงข้างลุง ดังที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษที่ถึงแก่อสัญกรรม ได้เคยเตือนลุง เพราะถ้าเมื่อใดคนส่วนใหญ่ที่เคยสนับสนุนลุง เชียร์ลุง ไม่เอาลุง สัญญาณอันตรายของรัฐบาล จะมาเยือนถึงบันไดทำเนียบแน่นอน
          สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ตนเองได้ คือการทำงานสร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับและศรัทธา ต้องกล้าหาญที่จะตัดสินใจทำเรื่องที่เป็นความเรียกร้องต้องการของประชาชน เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ เช่น การปฏิรูปตำรวจ, การปฏิรูปทางการเมือง, การขจัดปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง หรือ การกล้าออกคำสั่งหรือเสนอกฎหมายเพื่อการนิรโทษคดีอันเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองแก่ทุกๆ กลุ่ม เพื่อมิให้คนเหล่านั้นเบื่อและเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล หันหน้าไปหนุนฝ่ายต้านรัฐบาล เพื่อชิงเอาแนวร่วมทางการเมืองกลับมา เพราะผลงานรัฐบาลและการกล้าตัดสินใจของรัฐบาลลุงตู่ จะเป็นเกราะและภูมิคุ้มกันรัฐบาลที่ดีที่สุด

          ส่วนการปฏิรูปในแต่ละด้าน รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจ ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ประชาชนจับต้องได้ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่คนชั้นล่าง ผู้ประกอบอาชีพระดับรากหญ้า และคนชั้นกลางโดยทั่วไป มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลลุงตู่ ก็จะก้าวพ้นวิบากกรรมนี้ไปได้
          จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย หรือทั่วโลกเป็นไปในทำนองเดียวกัน การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานๆ เมื่อก้าวสู่วาระที่ 2 ของผู้นำทุกคนล้วนแต่ต้องเผชิญกับวิบากกรรม วิกฤติศรัทธา ความนิยมลดลงเช่นนี้เสมอ อาการที่มีคนเบื่อ พวกไม่อยากให้อยู่ต่อ ประชาชนอยากเปลี่ยน แปลง เป็นอาการโรคธรรมดาของการเมือง หากเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ ก็จะรอดพ้นในวิบากกรรมไปได้
          ดังที่รัฐบุรุษผู้สละตนเองเพื่อผลประโยชน์ชาติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวเมื่อคํ่าวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 ต่อหน้าบรรดาหัวหน้าพรรค และเลขาธิการ 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ราษฎร และสหประชาธิปไตย ที่มาเชิญท่านให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ที่บ้านสี่เสา หลังจากอยู่มาแล้ว 8 ปี 5 เดือน โดยท่านได้กล่าวขอบคุณ และตอบว่าได้ตัดสินใจแล้วว่า “ผมขอพอ” ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย
          การตัดสินใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ วันนั้น เราจึงมีรัฐบุรุษคู่แผ่นดินในวันนี้ บทเรียนในอดีตสอนว่า “การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นยาก แต่การลงจากตำแหน่งยากยิ่งกว่า”