สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (48)

11 ม.ค. 2563 | 12:13 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3539 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ม.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล (48)

 

     ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด และเป็นบทความที่ยาวที่สุด

     กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามเรื่องสัญญาในเรื่องข้อพิพาทและการฟ้องร้อง การบอกเลิกสัญญากันในข้อ 29 การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือมีเหตุที่ทำให้บริการสาธารณะหยุดชะงักลง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนหรือเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเมื่อ รฟท.ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รฟท.มีสิทธิใช้อำนาจเข้าไปดำเนินโครงการฯ เองทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยอาจเป็นการสั่งให้เอกชนคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงงานตามข้อ 17.1(3) หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นใดดำเนินการดังกล่าวก็ได้ หรือมีสิทธิสั่งให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามข้อ 39.2 หรือมีสิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนตามข้อ 30.2 ได้

     ทั้งนี้ก่อนที่ รฟท.จะดำเนินการใดๆ ในข้อ 29 นี้ รฟท.จะแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาทราบเป็นหนังสือถึง(1) การดำเนินการที่ รฟท.จะกระทำ(2)เหตุที่ รฟท.ต้องเข้าดำเนินโครงการ(3) วันที่จะเริ่มดำเนินการ และ(4) ระยะเวลาของการดำเนินการ

     ในกรณีที่เหตุเกิดจากการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ได้มาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญาเอกชนคู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน และไม่ถือว่าเอกชนคู่สัญญาผิดหน้าที่ในส่วนนั้น โดย รฟท.จะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นไปตามกฎหมายแก่เอกชนคู่สัญญาอย่างเป็นธรรมตามความเสียหายที่แท้จริง

 

     30. การสิ้นสุดของสัญญาร่วมลงทุน 30.1 เหตุสิ้นสุดของสัญญาร่วมลงทุน สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลงเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

     (1) เมื่อครบระยะเวลาของโครงการฯ

     (2) เมื่อมีการเลิกสัญญาร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6.2 หรือ

     (3) เมื่อมีการเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2

     30.2 การเลิกสัญญาร่วมลงทุน (1) การเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา

     (ก) เหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา รฟท.มีสิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุน เมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

     1) กรณีเอกชนคู่สัญญาถูกศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ

     2) กรณีเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญตามข้อ 27(1) เกิดขึ้น และเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

     ก) กรณีผู้สนับสนุนทางการเงินไม่สามารถแก้ไขเยียวยาโครงการฯ ได้สำเร็จตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน

     ข) กรณีผู้สนับสนุนทางการเงินสละสิทธิไม่ใช้สิทธิแก้ไขเยียวยาโครงการฯ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน และปรากฏว่าเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถแก้ไขเยียวยาโครงการฯ ได้สำเร็จภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าเก้าสิบ (90)วัน นับจากวันที่เอกชนคู่สัญญารับการแจ้งถึงการเกิดเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 27(1)นั้น ซึ่ง รฟท.อาจขยายระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวออกไปได้อีก หากเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควรหรือ

     ค) กรณีเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญตามข้อ 27(1)เกิดขึ้น โดยที่เอกชนคู่สัญญาไม่ได้เข้าทำสัญญาจัดหาสนับสนุนและปรากฏว่าเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถแก้ไขเยียวยาโครงการฯ ได้สำเร็จภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าเก้าสิบ (90)วัน นับจากวันที่เอกชนคู่สัญญารับการแจ้งถึงการเกิดเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญนั้น ซึ่ง รฟท.อาจขยายระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวออกไปได้อีก หากเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร

     (ข) การใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา กรณีที่เหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญาเกิดขึ้น รฟท.อาจใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนโดยบอกกล่าวแก่เอกชนคู่สัญญาให้แก้ไขเยียวยาการผิดสัญญาร่วมลงทุนหรือเหตุผิดนัดอื่นๆ และเอกชนคู่สัญญาจะต้องใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดที่จะแก้ไขเยียวยาเหตุดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบ (30)วัน นับจากวันที่เอกชนคู่สัญญาได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้น ซึ่ง รฟท.อาจขยายระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวออกไปได้อีก หากเห็นว่ามีเหตุผลสมควร

 

     ทั้งนี้หากเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้รับการแก้ไขเยียวยาภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป รฟท.อาจใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนนี้ได้ทันที โดยมิต้องบอกกล่าวใดๆ อีก

     (ค) ผลของการใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา 1) ภายใต้ข้อ 30.2(1)(ค)2)และ3) ตลอดระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน กรณีที่ รฟท.ใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญาตามข้อ 30.2(1)(ข) รฟท.จะไม่ชำระเงินใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญาและมีสิทธิที่จะบังคับหลักประกันสัญญาตามข้อ 10.1 และเรียกค่าเสียหายจากเอกชนคู่สัญญา โดยคำนวณจากฐานผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท.ที่ รฟท.พึงได้รับตลอดระยะเวลาของโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1 และค่าเสียหายอื่นที่กฎหมายไทยกำหนดให้สิทธิแก่ รฟท.สามารถเรียกได้ มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณา

     2) กรณี รฟท.ใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญาตามข้อ 30.2(1)(ข)แล้ว เห็นว่าทรัพย์สินภายใต้โครงการฯ ในส่วนใดไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ ในกรณีนี้เอกชนคู่สัญญาจะต้องรื้อถอนบรรดาทรัพย์สินในส่วนที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ (ไม่ว่าจะมีการก่อสร้างหรือติดตั้ง หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือการติดตั้ง) พร้อมทั้งส่งมอบพื้นที่ส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯที่ รฟท.เป็นเจ้าของหรือจัดหาภายใต้สัญญาร่วมลงทุนให้แก่ รฟท.ในสภาพที่ รฟท.สามารถเข้าใช้ดำเนินการต่อได้ โดยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาทั้งสิ้น

     อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาตกลงว่า หากทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ในส่วนของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ นอกเหนือจากกรณีที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องรื้อถอน ในวรรคก่อนหน้านี้ รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญา ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

     ก) กรณีใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนในช่วงระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่เอกชนคู่สัญญาเท่ากับมูลค่าทางบัญชี (แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงิน โดยค่าชดเชยสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟจะต้องไม่เกินวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ)

     ข) กรณีใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนในช่วงระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(2) รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาเท่ากับผลลัพธ์ของ 1.หรือ ผลลัพธ์ของ 2.โดยเลือกค่าใดค่าหนึ่งที่มีมูลค่าตํ่ากว่า ทั้งนี้คู่สัญญาตกลงว่า

     1. กรณีเลือกชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น เท่ากับมูลค่าทางบัญชี รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาดังต่อไปนี้ สำหรับงานโยธา จะชดเชยเท่ากับมูลค่าทางบัญชีหักด้วยเงินที่รัฐร่วมลงทุนโครงการฯ ที่เอกชนคู่สัญญาได้รับแล้ว (ซึ่งเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ดังกล่าวจะต้องหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าเสื่อมราคาสะสมที่ใช้คำนวณมูลค่าทางบัญชีของงานดังกล่าว ณ วันที่วัดมูลค่า ค่าชดเชย) ทั้งนี้ค่าชดเชยสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟจะต้องไม่เกินวงเงินของเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ และสำหรับงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ จะชดเชยเท่ากับมูลค่าทางบัญชี

     2. กรณีเลือกชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นเท่ากับมูลค่าตลาดยุติธรรม รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาเท่ากับมูลค่าตลาดยุติธรรม และ รฟท.ตกลงชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯที่เหลืออยู่ให้แก่เอกชนคู่สัญญา

     ท่านคิดว่า ใครจะบอกเลิกใคร!

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (47)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (46)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (45)