รับมือน้ำมันพุ่ง

11 ม.ค. 2563 | 12:07 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3539 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 ม.ค.62

 

รับมือน้ำมันพุ่ง

 

ยังต้องจับตาสถาณการณ์ความตึงเครียดในตะวัน ออกกลางระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ว่าจะเพิ่มระดับความรุนแรงอีกหรือไม่ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯในอิรัก เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลให้ชาวสหรัฐฯเสียชีวิตหรือได้รับการบาดเจ็บ และไม่เสียหายต่อโรงงานผลิตนํ้ามันดิบ รวมถึงจะไม่มีการใช้มาตรการทางทหารในการตอบโต้อิหร่าน มาส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบดูไบปรับตัวลดลงมากกว่า 4% มาอยู่ที่ 66.33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และยังส่งผลมายังราคานํ้ามันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ปรับตัวลดลงมา 30 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นกลุ่มดีเซล เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตลาดนํ้ามันยังจับตาท่าทีของอิหร่าน หลังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ได้ทวิตข้อความว่าอิหร่านดำเนินมาตรการตอบโต้ เพื่อป้องกันตัวและไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา แต่จะปกป้องตัวเองจากการรุกราน

ขณะที่กระทรวงพลังงาน ได้เฝ้าติดตามความตึงเครียดในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด เกรงว่าสถานการณ์ดังกล่าว หากยืดเยื้อหรือมีสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก จะส่งผลต่อราคานํ้ามันขายปลีกในบ้านเรา และเตรียมมาตรการที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพ หากราคานํ้ามันในตลาดโลกทะยานขึ้นอีกต่อเนื่อง

หนึ่งในมาตรการดังกล่าว จะเป็นเรื่องของการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยจะนำเงินจากกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาขายปลีกนํ้ามันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งได้มีการพิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา หากราคานํ้ามันปรับตัวสูงขึ้น ก็จะปล่อยให้ราคานํ้ามันขายปลีกดีเซลในประเทศขึ้น ไปจนชนเพดานที่ 30 บาทต่อลิตรก่อน และหลังจากนั้น ถึงจะนำเงินกองทุนนํ้ามันฯมาอุดหนุน

สำหรับวิธีการดังกล่าวนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยนำมาใช้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 จากเหตุการณ์สหรัฐฯ ประกาศมาตรการควํ่าบาตรการส่งออกนํ้ามันดิบของประเทศอิหร่าน โดยจะนำเงินกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงวงเงิน 1.62 หมื่นล้านบาท มาอุดหนุนราคานํ้ามันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนั้นราคานํ้ามันดิบดูไบในตลาดโลก ดีดตัวขึ้นไปที่ระดับ 82.98 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ครั้งนั้น มีแนวทางที่จะนำเงินกองทุนนํ้ามันฯ มาใช้ กรณีราคานํ้ามันดิบดูไบไม่เกิน 87.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ชดเชย 1.50 บาทต่อลิตร หากราคานํ้ามันดิบดูไบอยู่ในช่วง 87.5-92.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ชดเชยไม่เกิน 2.00 บาทต่อลิตร และหรือปรับเพิ่มราคาขายปลีกนํ้ามันดีเซลขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อลิตร และหรือปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ของนํ้ามันดีเซลลงมา แต่สถานการณ์คลี่คลายมาตรการดังกล่าวจึงไม่มีการนำมาใช้

ส่วนมาตรการรับมือดังกล่าว จะได้นำมาใช้ในช่วงนี้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงอีกหรือไม่ ซึ่งต้องลุ้นกันต่อไป แต่บทเรียนจากการอุดหนุนราคานํ้ามันในอดีต ที่มีการนำเงินกองทุนนํ้ามันฯมาอุดหนุนไม่ให้นํ้ามันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ระยะยาวนั้น เคยส่งผลให้กองทุนนํ้ามันฯถังแตกมาแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท