ใส่เกียร์ว่าง ระวังซํ้ารอย ธงแดง ICAO

12 ม.ค. 2563 | 02:35 น.

เมื่อปี 2558 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ “ICAO” กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของคนไทย หลังจากประกาศ ขึ้น “แบล็กลิสต์” ปัก “ธงแดง” ประเทศไทยไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประมาณไตรมาส 3 ปีนี้ ICAO ก็จะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยอีกครั้งตามวงรอบ คนในอุตสาหกรรมการบินจึงเริ่มตั้งคำถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาและสร้างมาตรฐานการบินพลเรือนของไทยในปัจจุบัน

ต้องไม่ลืมว่าหลังจากหน่วยงานด้านการบินของไทยถูก “ICAO” ปักธงแดง บนเว็บไซต์ของ ICAO อันแสดงให้เห็นความเสี่ยงด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของประเทศไทย มาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 เราใช้เวลาแก้ปัญหา 2 ปี 4 เดือน ก่อนที่ ICAO จะประกาศปลด “ธงแดง” หน้าชื่อของประเทศไทย ในเว็บไซต์ที่เป็นทางการของ ICAO เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 อิสรภาพทางด้านการบินพลเรือนของไทยถูกปลดปล่อยอีกครั้ง

หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปจะพบว่าการแก้ปัญหามาตรฐานการบินในขณะนั้น สาเหตุสำคัญที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหากว่า 2 ปี เพราะประเทศ ไทยของเราไม่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ได้แก้ไขกฎหมายทางด้านการบินพลเรือนให้ทันสมัยเพื่อรองรับความเติบ โตด้านการบิน การไม่พัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการไม่มีมาตรฐานในการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือการตรวจสอบสายการบินที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหา

ที่สำคัญการปลดธงแดงประเทศไทยของ ICAO เมื่อปี 2560 นั้น เป็นการปลดธงแดงภายใต้เงื่อนไขว่า ประเทศ ไทยของ เราจะต้องปรับปรุงมาตรฐานการบินอีกหลายด้านให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ICAO ให้ได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ประเทศไทย เสนอแผนต่อ ICAO

 

 

ใส่เกียร์ว่าง  ระวังซํ้ารอย  ธงแดง ICAO

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลพวงจากการที่ ICAO ปัก “ธงแดง” ประเทศไทยเมื่อกลางปี 2558 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยอย่างรุนแรง หลายประเทศเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบการบินของไทย อีกทั้งยังเพิ่มข้อจำกัดในด้านการบิน รวมถึงการประกาศห้ามสายการบินของไทยบินเข้าน่านฟ้าในบางประเทศ สร้างความเสียหายต่อประเทศทั้งในด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างรุนแรง

ปัจจุบันหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหามาตรฐานการบินคือคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีการประชุมครั้งสุดท้ายในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับความปลอดภัยด้านการบินของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในหลายเรื่อง

อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน  แห่งชาติ และคณะกรรมการอำนวยความสะดวกในการบินพลเรือนแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 การออกร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน (ฉบับที่...) ว่าด้วยการอนุญาตให้ประกอบกิจการการบินพลเรือน เพื่อสอด คล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับใหม่ เป็นต้น

แต่หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จนถึงขณะนี้ ผ่านไปกว่า 5 เดือน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยตำแหน่งตามกฎหมายมีการประชุมเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบินของไทยที่ยังค้างคาอยู่ออกมามากนัก

ทั้งๆ ที่ ICAO จะเข้ามาตรวจสอบและประเมินมาตรฐานการบินของไทยตามวงรอบในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ คนในแวดวงอุตสาหกรรมการบินจึงเริ่มแสดงความกังวลว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ประวัติศาสตร์อาจซํ้ารอย ประเทศไทยถูกปักธงแดงอีกครั้ง

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563