รวมพลังไทย รับศึกเศรษฐกิจใน-นอก

08 ม.ค. 2563 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3538 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค.63

รวมพลังไทย
รับศึกเศรษฐกิจใน-นอก


          เพียงก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2563 เท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในภายนอกก็โผล่มารุมซัดเศรษฐกิจไทยชนิดไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่ทำใจรอไว้แล้วว่าสถานการณ์เต็มไปด้วยความอึมครึมที่ท้าทายการบริหารเศรษฐกิจธุรกิจอย่างยิ่ง
          เรื่องแรกโดยไม่คาดคิด เช้าวันศุกร์ที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯสั่งโดรนสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ขณะเดินทางออกจากสนามบินของอิรัก จุดประกายความขัดแย้งในตะวันออกกลางให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้นจนตลาดทรุดทั่วโลก หนีไปซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งทองคำ จนราคาดีดเพิ่ม 16.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขึ้นแตะระดับ 1,604.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดในรอบ 7 ปี ราคานํ้ามันขยับทั่วโลก ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของตลาดหุ้นไทย
          ขณะเดียวกันทั่วโลกเฝ้าจับตาหวั่นความขัดแย้งครั้งนี้อาจบานปลายสู่สงคราม ซึ่งจะยิ่งฉุดเศรษฐกิจโลก จากที่เคยคาดการณ์ว่าปี 2563 นี้จะเติบโตได้ที่ 3.4% ให้ชะลอลง 0.1-0.2%ดับฝันเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณฟื้น จากปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯส่อคลี่คลาย เมื่อต่างบรรลุข้อตกลงการค้าจนเตรียมลงนามเร็ว ๆ นี้

          อีกเรื่องเป็นปัญหาภายในคือภัยแล้ง แม้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดหมายอยู่ก่อนแล้ว แต่สถานการณ์แล้งปีนี้มาเร็วและส่อจะแรงจากแล้งยืดเยื้อ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ไทยจะมีฝนน้อย เสี่ยงเกิดภัยแล้งระหว่างม.ค.-มิ.ย. จากที่ปีนี้เรามีนํ้าต้นทุนใช้การได้ในอ่างเฉลี่ยเพียงประมาณ 30% ตํ่ากว่าปีก่อนหน้า เริ่มต้นปีมาก็เจอปัญหานํ้าทะเลหนุนสูงจนนํ้าประปารสชาติกร่อย พื้นที่ภัยแล้วเริ่มขยายวง
          แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนในจีดีพีประเทศไทยเพียงกว่า 10 % แต่รองรับประชากรมากที่สุด หากรายได้จากพืชผลการเกษตรตกต่ำ กระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของครัวเรือนไทยทั่วทั้งประเทศ จึงต้องเตรียมเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมไว้รองรับสถานการณ์ให้ดี
          คลื่นกระแทกจากข้างนอก หรือไฟสงครามตะวันออกกลาง ที่จะกระทบถึงไทยโดยตรงคือเรื่องการจัดหานํ้ามัน ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพลังงานได้เปิดวอร์รูม เกาะติดสถานการณ์ตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน แล้ว เพื่อวางแผนและบริการการจัดหานํ้ามันเชื้อเพลิงให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนของราคานํ้ามัน

โดยล่าสุดด้านปริมาณสำรอง ปัจจุบัน ณ วันที่ 5 ม.ค.2563 ไทยมีปริมาณสำรองนํ้ามันดิบประมาณ 2,988 ล้านลิตร ปริมาณสำรองนํ้ามันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,144 ล้านลิตร นํ้ามันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าช LPG ทั้งหมดประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน
          ส่วนการบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว โดยกลุ่ม ปตท. ได้ปรับลดสัดส่วนการนำเข้านํ้ามันจากตะวันออกกลาง ที่เคยสูงถึงกว่า ร้อยละ 74 และล่าสุดปรับลดเหลือประมาณร้อยละ 50 ส่วนการผลิตในประเทศ วันละ 1.3 แสนบาร์เรล หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถเพิ่มได้อีกวันละ 36,000 บาร์เรล และจำลองสถานการณ์ราคานํ้ามันระดับต่าง ๆ ไว้พร้อมเพื่อบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
          ด้านภัยแล้งจะตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตินํ้า และกองอำนวยการนํ้าแห่งชาติ (War Room) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อควบคุม สั่งการ บัญชาการ และศูนย์อำนวยการแก้ไขวิกฤตินํ้าเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาวิกฤตินํ้าจะผ่านพ้นไป รวมทั้งออกคำสั่งเพื่อการป้องกันแก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
          เมื่อมีศึกเศรษฐกิจนอก-ใน ถึงเวลาไทยต้องรวมใจสู้