การนำ Regulatory Guillotine ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

08 ม.ค. 2563 | 04:30 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563

 

ในปี 2562 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในระดับโลก ตั้งแต่มหาอำนาจจีนและสหรัฐอเมริกาที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ทางการเมืองระหว่างประเทศ และความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้เกิดการประลองกำลังด้วยสงครามการค้าที่มีผลกระทบกับทั้ง 2 ประเทศและประเทศที่ 3 มีกรณีพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่อ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมีผลการตอบโต้ผ่านการค้าระหว่างประเทศ โดยญี่ปุ่นระงับการส่งออกสินค้าสำคัญบางรายการที่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วน ไปยังเกาหลีใต้ที่นำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูป

สหภาพยุโรปก็มีความท้าทายจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะจบลงอย่างไร แถมปัญหาภายในฮ่องกงก็ก่อให้เกิดความสั่นคลอนในเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสหรัฐอเมริกาพยายามมีบทบาทแทรกแซงในฮ่องกงตลอดเมื่อมีโอกาส ประเด็นตัวอย่างเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจระดับโลกแม้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในบางประเทศ

อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลรายบุคคลผ่านกิจกรรมและธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ และมีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วยวิธีปัญญาประดิษฐ์ จนเกือบจะเรียกว่าเดาใจผู้บริโภคและนักธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ใครที่มีข้อมูลดังกล่าวและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งจะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวโน้มการตัดสินใจทางการเมือง ที่กล่าวมานั้น เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และประวัติศาสตร์มีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

ในขณะที่โลกนั้นมีความผันผวน มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อน และมีความไม่ชัดเจน (VUCA ตามหลักของ the leadership theories of Warren Bennis and Burt Nanus) คำถามที่ตามมาคือรัฐบาลไทยพร้อมหรือยังที่จะเข้ามาดูแลในหลากมิติที่มีความสัมพันธ์ทั้ง สังคม กฎหมาย เศรษฐกิจ การเมือง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

นโยบายของรัฐในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนโยบายระยะสั้นหวังผลทันที แม้ว่ารัฐบาลได้มีการวางนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว แต่กลไกสนับสนุนการดำเนินการของภาคธุรกิจเอกชน โดยการลด เลิก และควบรวม การอนุญาตในรูปแบบต่างๆ และกระบวนงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผมเองในฐานะหัวหน้าทีม Guillotine Unit ขณะนั้น ได้มีโอกาสร่วมงานกับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้ได้ล่วงลับก่อนวัยจากอุบัติเหตุ เธอเป็นนักวิจัยมือดีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI) และมีผลงานมากมาย งานที่เราได้ทำด้วยกันกับทีมงานเกือบ 50 คน โดยการสนับสนุนทางข้อมูล และเงินทุน จากทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลไทย คือ การทบทวนการอนุญาต การอนุมัติ การขึ้นทะเบียน การจดทะเบียน การให้สัมปทานหรือประทานบัตร และกระบวนงาน อื่นๆ ที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้อง” (เรียกรวมว่าการอนุญาตและกระบวนงานที่เกี่ยวข้อง) เพื่อขจัดอุปสรรคในการประกอบ ธุรกิจของภาคเอกชน และการดำเนินชีวิตของประชาชน หรือ ที่เรียกกันในต่างประเทศว่า Regulatory Guillotine

 

การนำ Regulatory Guillotine  ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว


 

 

การทบทวนเพื่อ ลด เลิก หรือควบรวม การอนุญาตและกระบวนงาน ที่กล่าวมา นานาชาติไปทำกันมากว่า 10 ปีแล้ว อาทิ เกาหลีใต้ เวียดนาม เม็กซิโก โครเอเชีย และในปัจจุบันยังมีประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายแห่งที่เริ่มดำเนินการทบทวนกฎหมาย รัฐบาลไทยที่ผ่านมาก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของขั้นตอนนี้เพื่อนำมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังระบุไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 แต่เป็นที่น่าสนใจว่าโครงการนี้ได้ดำเนินมาระยะเวลาหนึ่งและมีข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว แต่การนำไปปฏิบัติใช้กลับยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่มีประโยชน์โดยตรงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีผลระยะยาว และทำให้ประเทศสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเกาหลีใต้ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องการลงทุนของภาคเอกชน หรือเวียดนาม ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก และทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดของ Regulatory Guillotine นั้นคือ รวบรวมและทบทวนการอนุญาตและกระบวนงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ โปร่ง ใส รวดเร็ว และมีต้นทุนในการวิเคราะห์ตํ่า ได้อาศัยหลักการ บูรณาการทางกฎหมาย เศรษฐ ศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลกระทบเชิงสังคมไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการหาประเด็นอุปสรรคจากภาคธุรกิจและภาคประชาชน (pain points) ว่าการอนุญาต และกระบวนงานใดที่ ก่อให้เกิดอุปสรรคจากภาคเอกชนและประชาชน และนำมาพิจารณาทบทวน ลด เลิก และควบรวม การอนุญาตและกระบวนงาน

การวิเคราะห์โดยสังเขปต่อการอนุญาต ผ่านคำถามเชิงกฎหมาย อาทิ มีกฎหมายที่ให้อำนาจหรือไม่ มีการแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจหรือไม่ มีความสอด คล้องกับกฎหมายปัจจุบันหรือไม่ มีความขัดแย้งคือทับซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ มีความขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยในความตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ มีการประกาศกฎหมายที่ให้อำนาจที่ใด

 

ส่วนคำถามในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี อาทิ เจตนารมณ์ของกฎหมายยังสอด คล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือไม่ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนหรือไม่มีการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ มีวิธีหรือทางเลือกอื่นๆ ที่ลดต้นทุนการอนุญาตดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วยังมีการคำนวณต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เมื่อมีการลดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการอนุญาต ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนค่าเสียโอกาสมากหรือน้อยเพียงใด

ข้อสรุปที่ได้เสนอภาครัฐไปแล้ว ครอบคลุมด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การพาณิชย์ การพัฒนาสังคม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การสาธารณสุข การขออนุญาตโรงงาน การนำเข้าและส่งออก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การให้บริการธุรกิจบริการนํ้ามัน การขนส่ง การค้าปลีก และการควบคุมวัตถุอันตรายและกิจการที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วเป็นอนุญาตประมาณ 300 ประเภท และมีกว่า 1,000 กระบวนงาน จากการคำนวณต้นทุนทางตรงและต้นทุนค่าเสียโอกาสหากได้มีการปรับปรุงกฎหมาย ลด เลิก และควบรวมการอนุญาตดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนของภาครัฐและเอกชนลดลงไปเกือบ 1 แสนล้านบาท

ขอยกตัวอย่างบางรายการ ทางด้านแรงงาน เช่น ให้ยกเลิกการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวกรณีที่อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน ให้ยกเลิกการแจ้งเปลี่ยนที่พักอาศัยของคนต่างด้าวภายใน 24 ชั่วโมง ให้ยกเลิกแบบฟอร์มใบ ตม.6 สำหรับคนต่างด้าวเช่นเดียวกับคนไทย ให้ยกเลิกเงื่อนไขทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ตํ่ากว่า 2 ล้านบาทต่อคนสำหรับบริษัทไทย และ 3 ล้านบาท สำหรับต่างด้าว เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจ

งานศึกษานี้กล่าวได้ว่าเป็นงานศึกษาสุดท้ายที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เสนอไว้ละเอียดและรอบคอบ ด้วยความระลึกถึงครับ

 

การนำ Regulatory Guillotine  ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว