Fake News ที่แก้ข่าวยากใน3โลก

09 ม.ค. 2563 | 03:55 น.

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติจำนวน 7 คน

ประกอบด้วย 1.นายปริญญา หอมเอนก ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.พล..มโน นุชเกษม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3....ญาณพล ยั่งยืน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 4.นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ด้านกฎหมาย 5.นายวิเชฐ ตันติวานิช ด้านการเงิน 6.นายบดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ด้านสาธารณสุข และ 7.รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


 

 

พอเห็นรายชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 ท่าน ก็พอจะคุ้นมือคุ้นชื่อกันพอควร พลันทำให้ผมนึกถึงการสนทนากับ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่ผมเรียกติดปากว่าอาจารย์แหม่มเป็นการคุยถึงมุมมองการทำงานของโฆษกรัฐบาลที่ต้องชี้แจงแถลงไขเรื่องราวสารพัดเรื่องแทนรัฐบาล

 

Fake News  ที่แก้ข่าวยากใน3โลก

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

 

หนึ่งในบทสนทนาคือการพูดกันถึงเรื่องการตอบโต้ข่าวจริง และข่าวปลอมหรือ Fake News ที่รัฐบาลลุงตู่เจอแทบจะรายวัน อาจารย์แหม่มเล่าว่า ข่าวปลอม ถ้าเป็นข่าวในเชิงสังคม เศรษฐกิจ อยู่ในวิสัยที่สามารถชี้แจงได้ เพราะอ้างอิงได้จากข้อมูล สถิติ หลักฐาน ที่สามารถค้นหาหยิบขึ้นมาชี้แจงได้

ยกตัวอย่างข่าวปลอมด้านเศรษฐกิจเรื่องการรีดภาษีผ้าอนามัย ซึ่งใช้กลไกของโฆษกกระทรวง ที่มีตัวแทนทุกหน่วยงานอยู่ในกรุ๊ป Line อยู่แล้ว ในการตรวจสอบข้อมูล แล้วก็มอบหมายว่าใครหน่วยงานใดจะแถลงหรือให้ข้อมูลเรื่องนี้กับสื่อมวลชน เพื่อหยุดข่าวปลอมแค่นั้นเอง

แล้วยังมีอีกกลไกคือ การจัดการข่าวปลอมจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ที่ทำงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) รวมทั้งยังมีทีมของสำนักโฆษก ของอาจารย์แหม่มมอนิเตอร์กันอีกทาง เรียกว่ามีข่าวปลอมเมื่อไร ก็ยากที่จะรอดสายตาและถูกตีตราประทับว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอม

แต่แน่นอนมีข่าวที่ชี้แจงได้และหยุดการแชร์การส่งต่อได้ ก็ย่อมมีข่าวที่ชี้แจงไปปากเปียกปากแฉะยังไงก็เปลี่ยนความเชื่อได้ยาก ข่าวประเภทนั้น อาจารย์แหม่มยอมรับเลยว่า ข่าวจริงและข่าวปลอมที่เป็นเรื่องทางการเมือง เป็นข่าวที่ชี้แจงได้ แต่เปลี่ยนความเชื่อไม่ได้ เพราะเรื่องทางการเมืองกลายเป็นเรื่องของความเชื่อที่ปักใจเชื่อไปแล้ว

หน้าที่การชี้แจงข่าวทางด้านการเมืองจึงไม่ค่อยเห็นข่าวออกจากทำเนียบรัฐบาลมากเท่าไรนัก เพราะจะเป็นบทบาทของทีมโฆษกของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคตอบโต้ชี้แจงซะมากกว่า เป็นการช่วยลดแรงปะทะถาโถมถล่มรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง

ตอนท้ายอาจารย์แหม่ม เล่าถึงทิศทางการทำงานในปี 2563 เพื่อสู้กับข่าวจริงและข่าวปลอมว่า นายกฯลุงตู่มอบนโยบายขอให้การชี้แจงข่าวสารกับสื่อมวลชนและประชาชน ให้ทำงานในเชิงรุก ใช้ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่าย หากสื่อสารด้วยภาษาราชการ ภาษาเทคนิคชั้นสูงมากไป ก็คงทำให้งงมากกว่าจะเข้าใจมากขึ้น

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563

Fake News  ที่แก้ข่าวยากใน3โลก